ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เผย อยากให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิเสีเขียวตามเกณฑ์ใหม่ ของ สปสช. ช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ – ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็วขึ้น


นพ.เฉลิม  หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า อยากให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวตามเกณฑ์ใหม่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศ ซึ่งถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
 
นพ.เฉลิม กล่าวว่า แนวทางการรับดูแลผู้ป่วยสีเขียวมีความจำเป็นต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างมาก โดยแบ่งเป็น 1. การดูแลแบบผู้ป่วยนอก (OP with Self Isolation) 2. การดูแลแบบกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) 3. การดูแลใน Hospitel ซึ่งจะเห็นว่าผู้ป่วยสีเขียวที่ต้องเข้าระบบเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หรือคิดเป็น 90% จากสัดส่วนการติดเชื้อทั้งหมด
 
“อย่างของผมที่ดูวันนี้คือทุกๆ ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโควิดไม่ว่าจะเป็น HI, Hopitel และคนไข้หนักในโรงพยาบาลด้วย รวมกันทั้งหมด 3.7 หมื่นคน ซึ่งคนไข้หนักที่โรงพยาบาลหากเทียบสัดส่วนก็ไม่ค่อยเยอะ โรงพยาบาลเรารองรับได้ 1,700 เตียง ใช้ไปประมาณ 1,000 เตียงสำหรับกลุ่มเสี่ยง” นพ.เฉลิม ระบุ
 
นพ.เฉลิม กล่าวต่อไปว่า แน่นอนว่าการเข้ามาร่วมในส่วนนี้จะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลรัฐได้มาก และจะทำให้ผู้ป่วยโควิดได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว รวมถึงระบบในการจัดการไหลลื่นขึ้น เพราะที่ผ่านมาลำพังหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว ต้องบอกว่าการทำงานค่อนข้างลำบาก เห็นได้จากปัญหาเรื่องสายล่ม การส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ  
 
“ขณะนี้ที่มีโรงพยาบาลเอกชนประสงค์เข้าร่วม เข้าใจว่ามี 100 กว่าที่แล้ว ซึ่งสมาชิกของเรามีประมาณเกือบ 340 แห่ง ถ้าเกิดเขาพร้อมและดำเนินการได้ทั้งหมดก็อยากให้เขาเข้ามาช่วย เพราะต้องบอกว่าการติดเชื้อในประเทศเราอาจยังไม่ถึงจุดพีคจริงๆ จุดสำคัญหลังจากนี้คือมหกรรมสงกรานต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น” นพ.เฉลิม กล่าว
 
อนึ่ง ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ยกเลิกบริการ UCEP COVID และให้เปลี่ยนมาเป็นระบบ UCEP plus แทน ซึ่ง สปสช. ได้ชี้แจงปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการโควิด-19 ใหม่ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายกรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ซึ่งไม่ได้อยู่ในเกณฑ์การรักษาของ UCEP plus เพื่อให้สถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ใช่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดให้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม โดยประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป