ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จอย ภูมาภี (Joy Phumaphi) เลขาธิการกลุ่มพันธมิตรผู้นำแอฟริกาต้านมาลาเรีย (African Leaders Malaria Alliance) และอดีตรัฐมันตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แห่งประเทศบอตสวานา ในทวีปแอฟริกา แสดงความเห็นผ่านบทความในสื่อออนไลน์ดีเวกซ์ (Devex) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566

เรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง ด้านการป้องกัน การเตรียมการ และการตอบสนองต่อโรคระบาด หรือ PPPR (Pandemic Prevention, Preparedness, and Response) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. 66 ร่วมหารือแนวทางการป้องกันและรับมือโรคระบาดโดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยใช้แนวคิด "สุขภาพหนึ่งเดียว" (One Health) และชูประเด็นการสร้างกลไกทางการเงินสำหรับการเตรียมพร้อมต่อโรคระบาด 

ภูมาภีระบุว่า แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ภาวะฉุกเฉินจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่่ยงความจริงที่ว่า เกิดความล้มเหลวระดับโลกในการป้องกันและรับมือกับโรคระบาด อันเกิดจากความสะเพร่าของนานาประเทศ 

“หากไม่วางแนวทางเตรียมรับมือโรคระบาด การระบาดครั้งต่อไปจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจมีผลกระทบมากกว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” เธอให้ความเห็น

ภูมาภี เน้นย้ำการจัดทำร่างปฏิญญาการเมืองว่าด้วยการทำระบบ PPPR ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมระดับสูงครั้งก่อนในสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่ายังต้องพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้ได้ร่างสุดท้ายที่สมบูรณ์ในการประชุมระดับสูงที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. นี้

ทั้งนี้ ควรระบุเนื้อความเกี่ยวกับเป้าหมายการป้องกันโรคระบาดในอนาคต และการสร้างระบบ PPPR ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมการหาแนวทางนำไปปฏิบัติหลังประกาศปฏิญญา 

เธอเสนอให้ผู้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงหารือแนวทางทางสากล ในการเข้าถึงระบบ PPPR อย่างเท่าเทียม และมีประสิทธิผล ด้วยการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและประชาสังคม พร้อมสนับสนุนการสร้างศักยภาพระบบ PPPR ในแต่ละประเทศ บูรณาการเทคโนโลยีใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชีววิทยาสังเคราะหในการทำระบบรับมือโรคระบาด

มากไปกว่านั้น ควรพูดถึงการกระจายวัคซีนและยา เพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์ 

นั่นหมายถึงความจำเป็นที่ต้องพูดคุยถึงช่องว่างทางการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา ที่ส่งผลให้การเข้าถึงวัคซีนและยามีข้อจำกัด และกลไกทางการเงินที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องมือช่วยชีวิตเหล่านั้น

ภูมาภี เน้นย้ำว่า กลไกทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญในการเตรียบมพร้อมรับมือโรคระบาด ร่างปฏิญญาเสนอให้ทำกลไกการเงินระดับชาติ ซึ่งอาจได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ เป็นเครื่องมือหลักในการระดมทุนทำระบบ PPPR 

อย่างไรก็ตาม เธอเสนอว่านั่นอาจไม่เพียงพอ ควรหาแหล่งเงินทุนทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณความช่วยเหลือระหว่างประเทศ หากต้องการกลไกทางการเงินที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเพิ่มจำนวนเม็ดเงินในระยะยาว และทำระบบติดตามและประเมินผลการใช้เงิน เพื่อสร้างความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ 

นอกจากนี้ ร่างปฏิญญาทางการเมืองต้องระบุคำมั่นสัญญาของผู้นำโลกให้ชัดเจน และประชุมติดตามผลการทำงานหลังการลงนามปฏิญญา เพื่อให้มั่นใจว่าผู้นำเหล่านี้จะทำตามสัญญา 

ภูมาภี สรุปในตอนท้ายว่า โลกจำเป็นต้องมีผู้นำที่ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น และมีแนวทางเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดที่เน้นความเท่าเทียมและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสภาวการณ์ความไม่แน่นอนที่โรคระบาดอาจเกิดขึ้นได้อีก ขณะที่ระบบระบบสาธารณสุขทั่วโลกยังแตกแยกเป็นส่วนๆ ไม่เชื่อมต่อ ขาดการสื่อสารกัน

ดังนั้น ทุกคนต้องร่วมมือกันทำข้อเสนอเหล่านี้สู่การปฏิบัติจริงในระหว่างการประชุมระดับสูงด้าน PPPR ที่ใกล้เข้ามา เพราะโรคระบาดส่งผลกระทบต่อทุกคน จะชนะโรคระบาดได้ ทุกคนต้องลงมือทำร่วมกัน

อ่านบทความต้นฉบับ :
https://www.devex.com/news/opinion-make-the-most-of-un-pandemic-preparedness-high-level-meeting-105677