ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 ระบุ “ร้อยเอ็ด” มีคลินิกทันตกรรมเข้าร่วม “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” รับนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชน” 32 แห่งจาก 54 แห่ง ชี้ภาพรวม 12 จังหวัดนำร่องเข้าร่วมแล้วราว 40% ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น ระบุให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองทำฟรี 3 ครั้งต่อปี มีเกณฑ์กำหนดตามมาตรฐานวิชาชีพ ช่วยวางแผนรักษาเฉพาะบุคคล ป้องกันสูญเสียฟัน 


ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งถึงการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ของคลินิกทันตกรรมเอกชน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) เพื่อสนับสนุนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ระบุว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าจาก 12 จังหวัดนำร่อง จ.ร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่มีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนถึง 32 แห่ง จาก 54 แห่งทั่วจังหวัด ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทันตกรรมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี หากมองภาพรวมในการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ของคลินิกทันตกรรมใน 12 จังหวัดนำร่อง พบว่ามีการเข้าร่วมราว 30-40% จากคลินิกทันตกรรมทั้งหมด ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะคลินิกทันตกรรมแต่ละแห่งมีความตื่นตัวในการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ มีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงมีการทำโปรโมชันแจกยาสีฟันฟรี เป็นต้น

“สำหรับการเข้ารับบริการทันตกรรมในคลินิกที่เข้าร่วม ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจะได้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวน 3 ครั้งต่อปี ซึ่งทันตแพทยสภาก็ได้มีการวางเกณฑ์เรื่องการตรวจฟัน หรือประเมินความเสี่ยงฟันผุเอาไว้ ประชาชนที่เข้ามารับบริการในครั้งแรกจะได้รับการตรวจฟันทุกซี่ ทำให้สามารถทราบปัญหาช่องปากของตัวเองได้” ทพ.ธงชัย ระบุ

1

ทพ.ธงชัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่คลินิกทันตกรรม หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่จะอยู่ที่ครั้งแรก เพราะจะได้รับการตรวจฟันทุกซี่ มีการประเมินความเสี่ยงเรื่องฟันผุ จากนั้นจะได้รับการทำหัตถการทั่วไป หรือหัตถการปฐมภูมิ เช่น ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบฟลูออไรด์ หรือเคลือบหลุมร่องฟัน จากนั้นทันตแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก็จะมีการนัดเข้ามารับบริการในครั้งถัดไป

สำหรับการออกแบบมาตรฐานที่ให้ความสำคัญในการตรวจครั้งแรกนั้น เพื่อให้ทันตแพทย์รู้จักผู้ป่วยมากขึ้น และสามารถวางแผนการดูแล หรือการรักษาเฉพาะบุคคล ส่งผลให้สามารถป้องกันการสูญเสียฟัน หรือโรคทางช่องปากได้ นอกจากนี้หากผู้ป่วยที่ใช้บริการครบ 3 ครั้งแล้วก็สามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้ที่โรงพยาบาลรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน

มากไปกว่านั้น การเข้ามาเป็นหน่วยร่วมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ของคลินิกทันตกรรม จะช่วยให้ทันตแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลสามารถใช้ความรู้ที่เรียนมาดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้ เพราะที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนมาก และบริการส่วนใหญ่เป็นหัตการทั่วไป หากสามารถส่งต่อผู้ป่วยในลักษณะนี้กระจายไปยังคลินิกทันตกรรมได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเฉพาะทาง ได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น จากเดิมที่อาจจะต้องรอ 2-3 ปี

“จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้มีโอกาสคุยกับคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ทั้งหมดเล่าให้ฟังว่ามีจำนวนผู้มาเข้ารับบริการมากขึ้น รวมถึงผู้ที่ไม่เคยทำฟันเลยก็มีเข้ามาทำมากขึ้น และเสียงตอบรับที่ได้จากผู้ป่วยก็เป็นไปในทิศทางที่ดี เกิดการบอกต่อ แต่ก็ยังได้รับเสียงสะท้อนจากคลินิกถึงความเป็นไปได้ในการประชาสัมพันธ์โครงการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น” ทพ.ธงชัย ระบุ