ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ทันตแพทยสภา ลงพื้นที่บ้านป่าคา ใจกลางอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เยี่ยมชมการจัดบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียนของโรงพยาบาลโกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร ชี้บัตรทองมีสิทธิประโยชน์มากแต่ปัญหาคือการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล การนำบริการมาถึงมือประชาชนแบบนี้ถือว่ามาถูกทางแล้ว


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อม ทพ.วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน กรรมการทันตแพทยสภา คณะผู้บริหาร สปสช. เขต 3 นครวรรค์ เดินทางลงพื้นที่โรงเรียนคลอดมดแดง สาขาป่าคา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการทันตกรรมป้องกันในเด็กนักเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร

ทั้งนี้ หมู่บ้านป่าคา ตั้งอยู่ใจกลางเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีเขตการปกครองอยู่ในเขต อ.คลองลาน แต่เนื่องจากเส้นทางที่รถยนต์เข้าถึงได้ต้องเข้าจากทางด้าน อ.โกสัมพีนคร ดังนั้นจึงมีการตกลงให้การจัดบริการสุขภาพเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลโกสัมพีนคร ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ป่าคา ที่ทำงานร่วมกับทีมโรงพยาบาลโกสัมพีนคร จะสังกัดอยู่กับอำเภอคลองลาน

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีหลากหลายมาก ในส่วนของสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม มีทั้งทันตกรรมรักษา เช่น อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ทันตกรรมฟื้นฟู เช่น ทำฟันเทียม ฝังรากฟันเทียม และทันตกรรมป้องกัน ทั้งการเคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน ดูแลสตรีตั้งครรภ์ ฯลฯ 

อย่างไรก็ดี ปัญหาคือเมื่อปวดฟันแล้วจะไปรับบริการได้ที่ไหน หากเป็นพื้นที่ปกติก็คือไปหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่สำหรับพื้นที่ห่างไกล การเดินทางไปหน่วยบริการมีความลำบากมาก ยกตัวอย่างเช่นที่หมู่บ้านป่าคาแห่งนี้ ตั้งอยู่ในป่าในเขา มีระยะทางห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 60 กม. การเดินทางต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้เด็กที่อาศัยในพื้นที่มีโอกาสลงไปรับบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากน้อยมาก

“การจัดบริการในลักษณะที่เอาบริการมาถึงประชาชนถือว่ามาถูกทางแล้ว ทำให้สิทธิประโยชน์บัตรทองมีความทั่วถึงมากขึ้น อย่างวันนี้กลุ่มเป้าหมายคือเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาซึ่งฟันแท้เพิ่งขึ้น โอกาสฟันผุมีสูง แต่ถ้าดูแลตั้งแต่ตอนนี้ก็จะช่วยได้เยอะ ทำให้สามารถใช้ฟันไปได้ยาวนานจนกว่าจะถึงวัยสูงอายุ”ทพ.อรรถพร กล่าว 

2

ด้าน ทพญ.กฤษณี เฮงตระกูลเวนิช ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากของเด็กวัยเรียนใน จ.กำแพงเพชร ส่วนมากคือโรคฟันผุ ซึ่งเกิดกับฟันแท้ในเด็กนักเรียน ป.1- ป.6 เพราะช่วงวัยนี้ฟันแท้เริ่มขึ้นแต่มีโอกาสได้รับอาหารเสี่ยงเช่น ขนมกรุบกรอบต่างๆ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงฟันผุมากกว่าเด็กวัยอื่น แม้แต่ในพื้นที่ป่าเขา ในระยะ 10 ปีมานี้การเดินทางสะดวกมากขึ้น ทำให้เด็กเข้าถึงขนมกรุบกรอบได้ง่าย

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ฟันผุในเด็กของ จ.กำแพงเพชร ในขณะนี้เริ่มดีขึ้น มีเด็กที่ฟันไม่ผุมากกว่า 80% สาเหตุเพราะมีการจัดบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากและการสนับสนุนชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. โดยเฉพาะการเคลือบหลุมร่องฟัน ทำให้เด็กมีแนวโน้มฟันผุลดลง

ด้าน ทพ.กิติศักดิ์ วาทโยธา ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลโกสัมพีนคร กล่าวว่า งานทันตกรรมป้องกันถือเป็นด่านแรก แม้จะรักษาได้แต่ป้องกันไว้จะดีกว่า ยิ่งในพื้นที่ห่างไกลกันดาร การเดินทางไปโรงพยาบาลลำบาก ทำให้เด็กยากต่อการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะบริการทันตกรรมจะต่างจากบริการสุขภาพอื่นๆตรงที่เมื่อมีอาการเล็กๆน้อยๆ คนไม่ค่อยรู้สึกว่าสำคัญ ผู้ปกครองจึงไม่ค่อยพาไปพบทันตแพทย์ที่โรงพยาบาล เมื่อมาพบทันตแพทย์โรคก็ลุกลามไปมากแล้ว ดังนั้นการออกมาจัดบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในพื้นที่เลย จึงช่วยลดโอกาสที่จะเกิดฟันผุที่รักษาไม่ได้ หรือหากตรวจเจอก็สามารถรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่รอยโรคจะลุกลามจนรักษาไม่ได้

“ความถี่ในการจัดบริการอาจจะไม่เหมือนพื้นราบ เพราะการขึ้นมาแต่ละครั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งเรื่องการเดินทาง บุคลากร ภูมิประเทศและภูมิอากาศ เช่น ถ้าฝนตกก็มาไม่ได้ หรือถ้าจะมาก็ต้องวางแผนเพราะช่วงนั้นอาจมีดินสไลด์ ต้นไม้ล้มขวางทาง ฯลฯ ดังนั้นช่วงไหนที่ไม่มีฝนหรือสภาพอากาศเหมาะสม เราพยายามจะขึ้นมาจัดบริการให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำให้สม่ำเสมอ 1-2 เดือน/ครั้ง”ทพ.กิติศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดบริการแต่ละครั้งจะมีทั้งการตรวจสุขภาพช่องปาก เคลือบหลุมร่องฟัน อุดฟัน ถอนฟัน รวมทั้งจะเชิญผู้ปกครองมาให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กด้วย แต่หากมีฟันบางซี่ที่ไม่สามารถทำหัตถการนอกโรงพยาบาลได้ ก็จะทำบันทึกให้ รพ.สต. แจ้งให้ผู้ปกครองพาเด็กลงไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งปกติชาวบ้านบางคนที่ต้องลงไปรับบริการสุขภาพที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว ถ้าลงเขามาก็ให้พาเด็กติดสอยห้อยตามลงมาด้วย

ขณะที่ ทพ.วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน กรรมการทันตแพทยสภา กล่าวว่า เนื่องจากการเข้าถึงบริการทันตกรรมของคนไทยต่ำ ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นนโยบายอันดับ 1 ของทันตแพทยสภาชุดนี้ ยิ่งได้มาเห็นสภาพความลำบากในการเข้าถึงบริการในพื้นที่ห่างไกล ก็สะท้อนว่าถ้าปัจจัยต่างๆเอื้ออำนวย การจัดบริการก็สามารถทำได้ ดังนั้นทันตแพทยสภาจะพยายามสร้างกลไกหรือกระตุ้นให้เกิดการทำให้ทันตแพทย์ในพื้นที่รู้สึกอยากออกมาจัดบริการในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถ้าออกมาให้บริการได้มากขึ้นก็จะทำให้คนไทยเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ