ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุปนายกทันตแพทยสภา เผยนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ใน 12 จังหวัด มีคลินิกทำฟันเอกชนร่วมบริการแล้ว 144 แห่ง ช่วยลดความแออัด รพ.รัฐ ให้หมอฟันเฉพาะทางรักษาคนไข้เคสหนักได้เร็วขึ้น ชี้คนใช้สิทธิบัตรทอง ‘ขูด-อุด-ถอน’ มากขึ้นทำให้ระบบเดินหน้า คาดว่าในปี 67 จะมีคลินิกเอกชนเข้าโครงการเพิ่ม 500-1,000 แห่ง ครอบคลุมเพียงพอ ยันหมอฟันไม่ขาดแคลน ผลิตได้ปีละกว่าพันคน


ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่หนึ่ง เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า ขณะนี้คลินิกทันตกรรม หรือร้านหมอฟันภาคเอกชน จำนวนถึง 144 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และทำให้ขณะนี้ ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ก็เริ่มรับรู้เกี่ยวกับโครงการ พร้อมเข้ารับบริการ ตรวจฟันทั้งปาก ประเมินความเสี่ยงฟันผุ ขูดหินนำ้ลาย อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน และบริการเคลือบฟลูออไรด์ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ถึง 3 ครั้งต่อปีงบประมาณ ทั้งนี้ทันตแพทยสภาได้กำหนดแนวทางมาตรฐานคุณภาพบริการทันตกรรมของคลินิกไว้อย่างชัดเจน เพื่อความมั่นใจของประชาชนในการเข้ารับบริการ

ทั้งนี้ จากผลดังกล่าวยังทำให้ทันตแพทย์ที่เป็นแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลของรัฐ ได้สามารถใช้ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นเคสซับซ้อนได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยหนักที่ต้องได้รับการรักษาสุขภาพช่องปากเข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น

"ตอนนี้หมอฟันในโรงพยาบาลรัฐหลายจังหวัด ที่คิกออฟโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ก็มีเวลาไปรักษาคนไข้เฉพาะทาง เช่นรักษารากฟัน รักษาโรคปริทันต์อักเสบ ใส่ฟันเทียม ผ่าฟันคุด ฯลฯ แทนที่จากเดิมก็ต้องให้บริการขั้นพื้นฐานกับประชาชน ทั้งการ อุดฟัน-ถอนฟัน ซึ่งการดูแลรักษาเหล่านี้คืองานสุขภาพปฐมภูมิ ที่สามารถผ่องถ่ายให้กับคลินิกทำฟันภาคเอกชนไปช่วยดูแลประชาชนได้" อุปนายกทันตแพทยสภา กล่าว

ทพ.ดร.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล

ทพ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ในส่วนคลินิกทันตกรรม หรือร้านทำฟันที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ในพื้นที่ทั้ง 12 จังหวัดที่นำร่องโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ พบว่าไม่มีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำหน้าที่จ่ายค่าบริการให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่มาทำฟัน โดยคลินิกทันตกรรมสามารถเบิกจ่ายได้ภายใน 3 วันตามข้อตกลง

"แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนหรือการให้บริการคนไข้ ที่ไม่ครบเงื่อนไขที่ทันตแพทยสภาและ สปสช. กำหนด ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิคที่สามารถแก้ไขได้" ทพ.ดร.ธงชัย กล่าว

ทพ.ดร.ธงชัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 3,000 แห่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนการทำคลินิกที่ค่อนข้างสูง และประเด็นนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คลินิกทันตกรรมใน กทม. อาจตัดสินเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่จำนวนไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนคลินิกทันตกรรมที่เหลืออีกประมาณ 4,000 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ หากมาเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่เพิ่มขึ้นอีกราว 500-1,000 แห่ง ภายในปี 2567 นี้ ก็จะถือว่าเป็นจำนวนที่ครอบคลุมและทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างดีมาก

ทพ.ดร.ธงชัย ยังกล่าวอีกว่า สถานการณ์ทันตแพทย์ในประเทศไทยขณะนี้พบว่ามีสัดส่วนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการดูแลประชาชน อีกทั้งที่ผ่านมามีการเพิ่มจำนวนคณะทันตแพทย์มากขึ้นในหลายสถาบันการศึกษาอยู่แล้ว จึงทำให้ขณะนี้สามารถผลิตทันตแพทย์เข้าสู่ระบบสุขภาพในประเทศได้ปีละกว่า 1,000 คน ซึ่งเพียงพอต่อการบริการประชาชนในภาพรวม แต่ยังคงมีปัญหาในการกระจายของทันตแพทย์ไปยังภูมิภาค ซึ่งหน่วยงานต่างๆจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป