ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภา ลุยดัน ‘นักอนามัยช่องปาก’ เป็นสายงานใหม่ของ ก.พ. เพื่อทำงานร่วมกับทันตแพทย์  ในการรองรับ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ซึ่งต้องการบริการสุขภาพช่องปากจำเพาะมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมความก้าวหน้าให้นักอนามัยช่องปากมีตำแหน่งในโครงสร้างของ สธ. - อบจ.


ทพ.สมยศ นะลำเลียง เลขาธิการทันตแพทยสภา เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ทันตแพทยสภากำลังผลักดันให้ตำแหน่งนักอนามัยช่องปากเป็นสายงานใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชพลเรือน (ก.พ.) เพื่อเป็นอีกส่วนในการทำงานร่วมกับทันตแพทย์ สำหรับรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบของประเทศไทย ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้มีความต้องการการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชนที่มีความจำเพาะมากขึ้น ขณะที่ทันตบุคลากรยังไม่มีความรู้ในส่วนนี้ เพราะเดิมทันตาภิบาลจะดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มเด็กและคนทั่วไปเป็นหลัก รวมถึงเป็นไปตามแนวทางที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเติมเต็มระบบสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุในประเทศไทยแล้ว ยังทำให้ความก้าวหน้าทางอาชีพของผู้ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ (ทันตสาธารณสุข) ที่เน้นด้านอนามัยช่องปากเกิดขึ้นด้วย ภายหลังวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร (วสส.) ได้มีการปรับหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ (ทันตสาธารณสุข) โดยให้น้ำหนักไปในด้านอนามัยช่องปากมากขึ้น (แต่ก็ยังมีการคงไว้ให้สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนได้ด้วย)

ทพ.สมยศ นะลำเลียง

 เนื่องจากเดิมในโครงสร้างของหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่มีตำแหน่งดังกล่าวรองรับ จึงทำให้ผู้ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าวส่วนหนึ่งต้องสอบเข้าในตำแหน่งนักสาธารณสุข ทว่า เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วงานของนักสาธารณสุขเองก็ไม่ได้ครอบคลุมงานและเน้นไปที่ด้านสุขภาพช่องปากมากนัก เพราะรายละเอียดของตำแหน่งนักสาธารณสุขคือการส่งเสริมป้องกันสุขภาพโดยรวม จึงไม่สามารถมีบทบาทในด้านทันตกรรมตามหลักสูตรการศึกษาได้อย่างเต็มที่ 

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราสูญเสียนักอนามัยช่องปาก ซึ่งเขาไปสอบเป็นนักสาธารณสุขทั่วไปจำนวนมาก ทำให้ไม่มีคนที่จะมาดูแลงานด้านส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ดังนั้นการทำให้นักอนามัยช่องปากเป็นสายงานใหม่ใน ก.พ. ได้ก็จะตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุดทั้งในแง่การบริหารจัดการระบบและความก้าวหน้าของบุคลากรตรงนี้” ทพ.สมยศ ระบุ

ทพ.สมยศ ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ทันตแพทยสภากำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม ฉบับใหม่ เพื่อทำให้คำจำกัดความของวิชาชีพทันตกรรมมีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเมื่อระดมความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการส่งฉบับร่างไปให้กรรมาธิการการสาธารณสุข เพื่อให้ยกร่างเป็นกฎหมายต่อไป ฉะนั้นจึงอาจใช้เวลามากหน่อย แต่เราก็พยายามเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้มีการเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรให้เร็วที่สุด