ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สสจ.ภูเก็ต ระบุ ‘Safety Phuket Island Sandbox’ สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว ตามนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย เตรียมมาตรการดูแลนักท่องเที่ยว-ประชาชนด้านสาธารณสุขรอบด้าน พร้อมดูแลพนักงานตามสถานประกอบการระดมฉีด ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ป้องกันการติดเชื้อ


นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า กิจกรรม “Safety Phuket Island Sandbox” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2567 นั้น เป็นการประกาศนำร่องพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยด้านสาธารณสุขในพื้นที่เขตสุขภาพ 11 ตามนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เดินทางมายัง จ.ภูเก็ต โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมโรค และการป้องกันภัยสุขภาพ การยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ (Sky Doctor) อาสาฉุกเฉินทางทะเล การจัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์การเดินทาง (Surveillance Medical Center) เป็นต้น 

สำหรับมาตรการท่องเที่ยวปลอดภัยด้านสาธารณสุขเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ จ.ภูเก็ต ให้ความสำคัญ และมีความพร้อม เนื่องจากที่ผ่านมาก็ได้มีการดำเนินการกันอย่างต่อเนื่องในการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอื่นๆ ภายในจังหวัด หรือส่งต่อข้ามจังหวัดกรณีเกินศักยภาพ ทำให้มีความมั่นใจในการให้บริการในส่วนนี้มากไปกว่านั้น ยังมีอาสาฉุกเฉินทางทะเล ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพูดคุย จัดอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในการทำกิจกรรมทางน้ำ (Lifeguard) ซึ่งในวันที่ 24 มี.ค. นี้จะมีการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางน้ำด้วยเช่นกัน 

นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจาก จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก และ จ.ภูเก็ต เองก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค และป้องกันภัยสุขภาพ โดยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่ผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวตามสถานประกอบการ เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานร้านนวด พนักงานขับรถ ฯลฯ โดยได้รับการสนับสนุนวัคซีนจาก สธ. จำนวนกว่า 1 แสนโดส ซึ่งขณะได้ดำเนินการฉีดไปแล้วเกือบ 5 หมื่นโดส โดยไม่รวมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ 608 ผู้ที่มีโรคประจำตัว ฯลฯ ที่ต้องได้รับเป็นประจำ “ที่เราฉีดให้กับพนักงานตามสถานประกอบการนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากนักท่องเที่ยว หรือตัวเราเองที่อาจจะไปติดนักท่องเที่ยวได้แม้ไม่มีอาการ จริงๆ ประชาชนที่เดินทางมาก็สามารถขอรับได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดภูเก็ต” นพ.กู้ศักดิ์ กล่าว 

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล

นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มากไปกว่านั้นยังประกาศให้พื้นที่ จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Free) เนื่องจากที่ผ่านมาราว 2-3 ปี ไม่พบการติดเชื้อทั้งในคน หรือในสัตว์ ฉะนั้นจึงสามารถประกาศได้เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย รวมถึงยังมีการควบคุม ดูแลที่พัก อาหารและสุขาภิบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานอีกด้วย โดยจะใช้ตลาดใหญ่ บริเวณถนนคนเดินย่านเมืองเก่าภูเก็ต มีการตรวจสอบคุณภาพอาหาร โดยเป็นไปตามเกณฑ์ของกรมอนามัย 

ขณะเดียวกัน ยังการจัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์การเดินทาง และการท่องเที่ยว (Surveillance Medical Center) ที่มีเป้าหมายจะจัดตั้งในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ภายในศูนย์จะมีแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้บริการ คำแนะนำทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยว เช่น การแนะนำการฉีดวัคซีนหากต้องเดินทาง ในกรณีที่อาจจะไม่เคยไปประเทศนั้นมาก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคประจำถิ่นจากพื้นที่นั้นๆ 

ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีนี้จะมีการส่งมอบงวดสุดท้ายสำหรับห้องผ่าตัด และเตียงสำหรับผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลวิชิระภูเก็ต เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึง สธ. ก็จะมีการจัดเตรียมแพทย์เฉพาะทางที่สามารถลากลิ่มเลือดที่อุดตันได้ เพราะที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีสัดส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องส่งต่อมากกว่ากรณีผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุ 

“สำหรับการดำเนินกิจกรรม หรือเรื่องอื่นๆ ภายใต้นโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัยด้านสาธารณสุขนั้น ได้รับการสนับสนุนของทั้งจาก สธ. โดยเฉพาะเครือข่ายนอกสังกัด หรือท้องถิ่นที่มีการบูรณาการร่วมกัน เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นหัวใจสำคัญของจังหวัดภูเก็ต รวมถึงทางรัฐมนตรี และปลัดก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และคนในพื้นที่ก็ร่วมมือกันดูแลนักท่องเที่ยว เพื่อให้ความมั่นใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาด้วย” นพ.กู้ศักดิ์ กล่าว