ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นอกจากฉากหน้าของอาคารสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียนอันเก่าแก่ ที่ดึงดูดสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เข้ามาเยี่ยมเยือนแล้ว ย่านเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) ยังมีสิ่งน่าสนใจที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง นั่นคือความเข้มแข็งของชุมชนที่ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ซึ่งได้รับการบอกเล่าผ่านเวทีล้อมวงพูดคุยหัวข้อ “เขียนกติกาเมืองเก่า: ความผาสุกที่ทุกคนเป็นเจ้าของ” โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 25.. 2565

1

ดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนย่านเมืองเก่า ที่มีการอยู่อาศัยอย่างยาวนานย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หากแต่ได้รับการจัดตั้งเป็นชุมชนทางการในปี 2552 โดยปัจจุบันตนเป็นประธานชุมชนคนที่ 2 ซึ่งยังคงยึดถือวิสัยทัศน์ตั้งต้นในการจัดการชุมชน คือการทำให้ “ชุมชนอยู่ดี มีสุข”

สำหรับพันธกิจหลัก 3 ส่วนในการจัดการชุมชนแห่งนี้ คือ 1. อนุรักษ์และพัฒนาอาคารสถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม 2. เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างชุมชนกับภาครัฐ เนื่องจากเป็นชุมชนในเขตเทศบาล ซึ่งไม่มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 3. การรักษาสมดุลใน 4 มิติ ที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

เขาระบุว่า เดิมทีความรุ่งเรืองของเกาะภูเก็ตเริ่มมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก จนกระทั่งมาถึงราวปี 2520 ซึ่งราคาแร่ดีบุกตกต่ำลงทั่วโลก ทำให้ธุรกิจเหมืองแร่นั้นหยุดลง แต่สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชายหาด ทะเล เกาะแก่งต่างๆ ที่ซึ่งย่านการค้ารวมถึงธุรกิจต่างๆ ย้ายไปตาม ทำให้ย่านเมืองเก่าถูกลืม และเงียบลงเรื่อยๆ

“เราตระหนักว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ย่านเมืองเก่าคงหายไปจากแผนที่ เพราะตอนนั้นต้องยอมรับคนมาภูเก็ต นึกถึงแต่ทะเล จึงเป็นที่มาว่าเราต้องฟื้นเมืองกันขึ้นมาใหม่ สิ่งแรกที่คิดตอนนั้นคือทำถนนคนเดิน จนเกิดหลาดใหญ่ขึ้นมาในปี 2556 และบริหารจัดการทั้งหมดกันเองโดยชุมชน ก่อนที่จะมีการแตกลูก จัดตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ขึ้นมาในปี 2560 เพื่อทำในเรื่องของกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชน เป็นหลัก” ดอน บอกเล่าที่มาโดยสังเขป

2

นับจากนั้นเมื่อย่านเมืองเก่าภูเก็ตกลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจต่างๆ ที่เคยซบเซา บ้านเรือนที่เคยปิดประตู อยู่อาศัยกันแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ ก็เริ่มกลับมาคึกคัก ผู้คนจากภายนอกก็เข้ามาประกอบธุรกิจต่างๆ เช่นเดียวกับความวุ่นวายต่างๆ ที่ประดังเข้ามาไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ โจร ขโมย ฯลฯ จึงเป็นที่มาในในปี 2561 เกิดการยกร่าง กฎระเบียบชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต” ขึ้นมาและประกาศใช้ภายในชุมชน จนมาถึงปี 2565 ที่ได้มีการหยิบขึ้นมาทบทวนและปรับปรุงใหม่อีกครั้ง

“แน่นอนสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดย่อมมีแรงเสียดทาน เพราะคนหมู่มากก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เราก็พยายามแก้ปัญหา ต้องบริหารความขัดแย้ง แม้ทุกคนอาจคุ้นชินกับการเป็นสังคมประชาธิปไตย คือเสียงส่วนใหญ่เอาอย่างไรก็ต้องทำแบบนั้น แต่ในชุมชนจะไปคิดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะสุดท้ายทุกคนยังต้องอยู่ด้วยกัน มองหน้ากัน เผาผีกัน ฉะนั้นถ้าใครไม่เห็นด้วยคุณก็ต้องไปคุยกับเขา สอบถามว่าปัญหาคืออะไร เราพอจะแก้อะไรได้บ้างไหม ถึงจะแก้ได้ไม่ทั้งหมดก็ขอให้บรรเทาลงสักนิดก็ยังดี ตรงนี้จึงเป็นบทเรียนว่าชุมชนเราจะใช้เสียงข้างมากเป็นตัวเดินไม่ได้ เราต้องเคารพเสียงข้างน้อย รับฟังปัญหาเขาและเอาปัญหานั้นมาแก้ด้วย เพราะชุมชนยังต้องอยู่ได้ด้วยกันต่อไป” ประธานชุมชนรายนี้ให้บทเรียน

สอดรับกับ สมยศ ปาทาน ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่ได้ขยายความถึงการใช้ประโยชน์เรื่องของการท่องเที่ยวชุมชน เข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคนเมือง โดยสิ่งสำคัญของการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือจะต้องมีมาตรฐาน และมองดูว่าชุมชนมีต้นทุนอะไรอยู่บ้าง

3

สมยศ วิเคราะห์ให้ฟังว่า ภูเก็ตมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนของการท่องเที่ยว ในขณะที่ทรัพยากรทางวัฒนธรรมของย่านเมืองเก่า จะเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวได้ โดยต้นทุนนั้นแสดงให้เห็นผ่านอัตลักษณ์ของย่านที่มีอยู่ คือ “อาคาร” สถาปัตยกรรมชิโน-ยูโรเปียน “อาหาร” ที่มีเมนูหลากหลาย และ “อาภรณ์” ชุดการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งเมื่อเอา 3 เรื่องนี้มาร้อยให้เป็นเรื่องเดียวกัน สุดท้ายจึงเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ โดยเติม “อารมณ์” ของชาวบ้านที่มีความสุขเข้าไป

“ถ้าอารมณ์ของคนในชุมชนไม่มีความสุข เราจะเดินการท่องเที่ยวต่อไปอย่างไร ถ้าการท่องเที่ยวเข้ามาแล้วเราจัดการไม่ได้ ก็คงไม่มีความสุข จึงเป็นที่มาของการร่างข้อตกลงร่วมกัน และช่วยกันผลักดันให้เกิดเป็นนโยบาย ซึ่งออกมาผ่านข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 51 ที่ให้คนในชุมชนทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว นำเที่ยวในชุมชนของตนเอง และมีรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นด้วย” เขาหยิบยกตัวอย่างมาอธิบาย

ในส่วนของกฎระเบียบชุมชนฯ สมยศ ระบุว่า ทางชุมชนเองก็อยากขยายผลต่อไปยังชุมชนข้างเคียง สร้างโมเดลในลักษณะพี่สอนน้อง กระจายออกไปเพื่อให้ชุมชนที่ยังไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนา หรือยังไม่มีองค์ความรู้ในการเขียนกฎกติกา สามารถนำโมเดลนี้ไปขยับให้เป็นภาพของเครือข่ายในระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศได้

ขณะที่ เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว สมัชชาสุขภาพจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า กฎระเบียบชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต คือต้นแบบหนึ่งของการใช้กลไกความร่วมมือ สร้างกติการ่วมกันของชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของธรรมนูญสุขภาพ ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้เกิดกระบวนการพูดคุย แสวงหาข้อตกลงร่วม ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่ของแต่ละชุมชนได้

4

เขาระบุว่า โมเดลของชุมชนย่านเมืองเก่านี้ ยังเป็นที่สนใจของนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต จนขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเรื่องของธรรมนูญในเขตพื้นที่เทศบาลนคร ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ที่สนใจนำกระบวนการธรรมนูญสุขภาพไปขยายผล และเขียนกติกา เช่น ธรรมนูญผู้สูงอายุ ใน ต.รัษฎา หรือธรรมนูญสุขภาพ ใน ต.วิชิต ที่กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยด้วยเช่นกัน

“พอชุมชนย่านเมืองเก่าถูกทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทุกคนก็ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ประชาชน รัฐ หน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงการใช้กระบวนการสมัชชา เข้ามาล้อมวงพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เห็นคุณค่าของการใช้กระบวนการตั้งวงคุย เสาะแสวงความร่วมมือ เพื่อทำให้เกิดเป็นข้อตกลงที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้นๆ” เจริญ ขมวดภาพ

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้มุมมองว่า เครื่องมือการพัฒนาในอดีต เรามีเครื่องมือแนวดิ่งคือนโยบายและโครงการของภาครัฐ แม้จะยังมีความสำคัญอยู่ แต่ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ยังทำให้เราได้เห็นภาพชัดของอีกเครื่องมือในแนวราบ คือมาตรการและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะเข้ามาประสานและหนุนเสริมการทำงานของมาตรการภาครัฐได้

5

นพ.ประทีป มองว่า ในอนาคตข้างหน้าบทบาทของท้องถิ่นจะมีมากขึ้น เช่นเดียวกับความเข้มแข็งของภาคประชาชนก็จะมีมากขึ้น ซึ่งกลไกในแนวราบ การมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ ภายในพื้นที่นี้ ก็จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งอาจกลายเป็นมาตรการหลัก แทนที่มาตรการของรัฐส่วนกลาง ซึ่งนโยบายของรัฐอาจกลายเป็นเพียงการหนุนเสริมวางกรอบใหญ่เท่านั้น

“ตัวมาตรการ กฎกติกา ระเบียบ หรือธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม จะเรียกอะไรก็ได้ แต่ในกฎหมาย พ.ร.บ.สุขภาพฯ มีกระบวนการที่เรียกว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาฯเฉพาะประเด็น สมัชชาฯเฉพาะพื้นที่ เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ของภาคส่วนต่างๆ ที่มาแลกเปลี่ยนและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งย่านเมืองเก่าภูเก็ตนี้ถือเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ดี ที่ สช. รวมทั้งภาคีสื่อมวลชน จะร่วมกันนำเอาบทเรียนเหล่านี้ไปขยายผลต่อ ไปสู่การเกิดขึ้นของมาตรการ ข้อตกลงที่มีความหลากหลายในแต่ละกลุ่มพื้นที่ และจะมีส่วนช่วยเติมเต็มนโยบายในระดับชาติได้” นพ.ประทีป สรุปประเด็น

6