ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ผมมองว่า ในเมื่อ รพ.สต. คือ โรงพยาบาล คำว่าโรงพยาบาล ก็ต้องมีหมอไปประจำอยู่ด้วย

“ที่ผ่านมา รพ.สต. เป็นที่เข้าใจกันดีว่าไม่มีหมออยู่ประจำ จะมีก็แล้วแต่บางที่ที่มีงบประมาณไปจ้าง ซึ่ง อบจ.ภูเก็ต มองว่าการมีหมอไปอยู่ใน รพ.สต. มันมีความสำคัญ สำคัญตรงที่ว่า ประชาชนในชุมชนที่เจ็บป่วย ยังไงเขาก็อยากเจอหมอ”

 นี่คือบางวรรคตอนที่ เรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) บอกกับ “The Coverage”

ภายหลังเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 ที่นอกจากจะเป็นการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ล็อตใหญ่ไปยัง อบจ. รอบ 2 แล้ว 

สำหรับ อบจ.ภูเก็ต ยังเป็นการเริ่มโปรเจกต์ใหญ่อย่างการ ‘เติมแพทย์’ ลง รพ.สต. ทั้ง 21 แห่ง ที่รับถ่ายโอนมา ซึ่งถือเป็น อบจ. แห่งแรกๆ ที่พยายามทำสิ่งที่พูดได้ง่าย แต่หลายคนบอกว่าเป็นไปได้ยากนี้ ให้เกิดขึ้นจริง

ด้วยความหวังว่าจะสามารถเติมเต็มคำว่า ‘โรงพยาบาล’ ที่อยู่ข้างหน้า ส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้มีความสมบูรณ์ได้ รวมถึงเป็นอีกหนี่งโมเดลที่ช่วยให้ อบจ. อีก 61 แห่ง เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อนำไปปรับใช้ในการยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ

เพื่อทำความเข้าใจโปรเจ็กต์ดังกล่าวให้ลึกซึ้งถึงแนวคิดเบื้องหลัง และทำไมเขาถึงมองว่าการ ‘เติมแพทย์’ ไปที่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิถึงเป็นเรื่องสำคัญ ขอพาทุกคนร่วมพูดคุยกับ ‘เรวัต อารีรอบ’ ไปกับบทสนทนาต่อจากนี้ 

รพ.สต. ที่มีศักยภาพดูแลรักษาทั้งคนไทย-เทศ

เรวัต เริ่มด้วยการอธิบายว่า จ.ภูเก็ต เป็นเมืองใหญ่และมีความพิเศษเฉพาะตัว ด้วยประชากรในจังหวัดที่อยู่ร่วมกันมีความหลากหลายอย่างมาก ทั้งคนไทย แรงงานข้ามชาติ และชาวต่างชาติที่มาพำนักอาศัย ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนตลอดทั้งปี ฉะนั้นการจะพัฒนาระบบบริการสุขภาพท้องถิ่นจึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย โดยเฉพาะการตอบโจทย์ให้ตรงต่อความต้องการของประชาชนในชุมชน

ทว่า เมื่อ อบจ.ภูเก็ต รับโอน รพ.สต. เข้ามาบริหารงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ก็มองเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะสามารถยกระดับและพัฒนาการบริการสุขภาพให้กับประชาชนให้ดีขึ้นได้ 

ผ่านการทำให้ รพ.สต มี ‘แพทย์ประจำอยู่’ เพราะ รพ.สต. กระจายตัวในหลายตำบล ครอบคลุมทุกอำเภอทั้ง 21 แห่ง มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กของชุมชน เข้าถึงได้สะดวก ซึ่งสามารถเป็นทางเลือกให้กับคนในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ได้เข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วย

ดังนั้น ถ้าหาก รพ.สต. มีแพทย์ ก็จะสามารถรักษาประชาชนในชุมชน และคนอื่นๆ ในพื้นที่ ตลอดจนดูแลสุขภาพพื้นฐานอย่างการเจ็บป่วยเบื้องต้นเล็กน้อย และถ้าหากรุนแรงก็ค่อยส่งต่อไปโรงพยาบาลในอำเภอ เหล่านี้จะช่วยประชาชนไม่ต้องเจอความแออัด รอรับบริการเป็นเวลานาน อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย

นอกจากนี้ อบจ.ภูเก็ต ไม่ได้จะหนุนเสริมให้บุคลากรทางกาแพทย์ใน รพ.สต. อย่างเดียว ในส่วนอื่นก็จะสนับสนุนด้วย ไม่ว่าจะเครื่องมือ ยานพาหนะ จัดสรรคนตามโครงสร้างกรอบอัตรากำลัง รวมถึงเติมแรงใจให้กับบุคลากรที่ถ่ายโอนมาให้มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ตลอดจนต้องประสานและทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต เพื่อดูแลประชาชนร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ

นำร่อง 6 เดือน จากนั้นปรับตามความต้องการพื้นที่

อย่างไรก็ตาม แม้เป้าหมายของ เรวัต และสิ่งที่คนมักจะพูดถึงจะมุ่งไปที่การ ‘เติมแพทย์’ แต่ในความเป็นจริงเขาต้องการเติม ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ทุกวิชาชีพ ตามแต่พื้นที่นั้นๆ มีความต้องการ ด้วยวิธีการจ้าง แบบ Out source จากโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดภูเก็ต 

เรวัต อธิบายว่า ตอนนี้มีการจ้างบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 21 คน แบ่งเป็น แพทย์อายุรกรรม 1 คน แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป 8 คน ทันตแพทย์ 5 คน และนักกายภาพบำบัด 7 คน

“บุคลากรที่จ้างมาทั้งหมดจะจัดตารางการทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ในแต่ละพื้นที่เพื่อออกตรวจและรักษาคนไข้เวียนกันไปทุก รพ.สต. ในวันจันทร์-ศุกร์ ทำงานตั้งแต่ 08.30 – 16.30 น. ตามเวลาราชการ” นายก อบจ.ภูเก็ต ขยายความ

กระนั้น เรวัต บอกว่า โปรเจกต์เติมบุคลากรทางการแพทย์ รพ.สต. ยังเป็นโครงการนำร่องเพื่อทดลองการให้บริการโดยมีแพทย์ไปประจำที่ รพ.สต. เป็นระยะเวลา 6 เดือน และจะมีการประเมินการให้บริการในเดือนที่ 5 ก่อนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งจะเป็นการวิเคราะห์ว่า ควรจะจัดหาบุคลากรการแพทย์ประจำ รพ.สต. ในส่วนวิชาชีพใด หรือลดวิชาชีพใดออกไป จึงจะเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

กระแสตอบรับดี

มาถึงตอนนี้โครงการดำเนินการมากว่า 2 เดือนแล้ว เรวัต บอกว่างานบริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงหากมีอุบัติเหตุที่ต้องดูแล เย็บแผล ให้การช่วยเหลือ และการรักษาโรคเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อน ทุกการรักษาและดูแล สามารถจบงานใน รพ.สต.ได้เลย 

รวมถึงมีส่วนน้อยมากที่จะต้องส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลแม่ข่าย เพราะประชาชนก็ดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดีขึ้น จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงแพทย์ที่หมุนเวียนไปดูแล อีกทั้งหากเจ็บป่วยก็รู้ว่าไปที่ รพ.สต. ก่อนไปโรงพยาบาลใหญ่ และจะได้เจอแพทย์เช่นกัน 

“ประชาชนชอบมาก เพราะเมื่อพวกเขาต้องการเจอหมอ ก็จะต้องได้เจอ ที่สำคัญไปรับบริการก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทอยู่แล้ว

“รวมถึงยังได้รับเสียงชื่นชมจากบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐทั้ง 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ที่เป็นโรงพาบาลศูนย์ รวมถึงโรงพยาบาลชุมชน อย่าง โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลป่าตอง และ โรงพยาบาลฉลอง เพราะโครงการนี้ไปช่วยลดภาระงานของแพทย์ แพทยก็ได้เวลาไปโฟกัสกับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องดูแล และยังลดความแออัดในโรงพยาบาล” เรวัต บอกถึงเสียงที่สะท้อนกลับมายังโครงการ 

ในตอนท้าย นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของการเติมแพทย์เข้าไปใน รพ.สต. ของ อบจ.ภูเก็ต ที่นอกจากจะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่สะดวกมากขึ้นแล้ว อีกขั้นหนึ่งคือ การยกระดับ รพ.สต. เป็น Cup Split หรือ หน่วยบริการแม่ข่าย เชื่อมโยงกับ รพ.สต. ข้างเคียง เพื่อร่วมดูแลประชาชน ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการบริการสุขภาพ ทั้งงบประมาณ กำลังคน และการวางแผนการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชนที่มีขอบเขตกว้างขึ้นได้  

“ทั้งหมดที่เราทำก็เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลต่อเนื่องแบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ อบจ.ภูเก็ต ขับเคลื่อนงานสุขภาพให้กับประชาชน และหวังว่าพื้นที่ของเรา พอจะเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างให้กับ อบจ.อื่นๆ ได้เห็นและนำไปปรับแต่ง เพื่อดูแลประชาชนทั้งประเทศร่วมกัน” เรวัต ย้ำในตอนท้าย