ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์พิษวิทยารามาฯ เผยโรงพยาบาลชุมชนสต็อกยาต้านพิษฉุกเฉินรักษาผู้ป่วยไซยาไนด์ได้ หากพบว่าเคยมีเคสผู้ป่วยได้รับสารพิษอันตรายรุนแรงมาก่อน ชี้ระบบจัดการยาต้านพิษช่วยให้ทุกโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยได้ทันท่วงที 


ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี เปิดเผยกับ "The Coverage" ตอนหนึ่งถึงการจัดการคลังยาต้านพิษในประเทศไทยว่า จากโครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกันหลายหน่วยงานเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตยาต้านพิษ โดยเฉพาะยารักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษรุนแรง เช่น สารไซยาไนด์ การผลิตเซรุ่มต้านพิษงู ทำให้ลดการพึ่งพาการนำเข้ายาต้านพิษจากต่างประเทศ และยกระดับศักยภาพด้านการบริหารจัดการยาต้านพิษได้ดีขึ้น

อีกทั้ง ยังทำให้เกิดระบบบริหารจัดการยาต้านพิษที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีการกระจายยาต้านพิษ รวมถึงเซรุ่มต้านพิษงูอย่างเหมาะสมให้กับแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการกจายยาต้านพิษไปแต่ละพื้นที่ 

ทั้งนี้ เพื่อให้แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ นำยาต้านพิษไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต้านพิษแต่ละพื้นที่ที่เกิดเหตุบ่อยครั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้ยาต้านพิษที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของประชากรที่จะได้รับสารพิษ 

ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ในส่วนการกระจายยาต้านพิษ จากข้อมูลของศูนย์พิษวิทยารามาฯ ที่วิเคราะห์และให้คำแนะนำเป็นชุดข้อมูลต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำหน้าที่จัดหาและจัดซื้อยาต้านพิษแต่ละชนิด โดยจะแบ่งกลุ่มยาออกเป็น ยา Emergency Drugs หรือยาต้านพิษฉุกเฉิน ที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับสารไซยาไนด์ ให้สำรองยาไว้ที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนยาต้านพิษชนิดอื่น ที่ผู้ป่วยได้รับช้ากว่าระยะเวลา 1 ชั่วโมง ก็จะมีการสำรองเอาไว้ตามความเหมาะสม และสถิติการเกิดผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่ 

“ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเคยมีกรณีพบผู้ป่วยได้รับสารพิษรุนแรง ก็จะอนุมัติให้พิจารณาสำรองยาต้านพิษเอาไว้ได้ ซึ่งยาที่จะสำรองก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่พบบ่อยในอำเภอนั้นๆ เช่นกัน” หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาฯ กล่าว

ศ.นพ.วินัย กล่าวอีกว่า ศูนย์พิษวิทยารามาฯ ยังมี Hotline สายด่วน 1367 เพื่อให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร จากโรงพยาบาลทุกสังกัดทั่วประเทศ ได้ติดต่อเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำ รวมถึงวินิจฉัยร่วมกันเพื่อรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ ซึ่งแต่ละวันจะมีบุคลากรทางการแพทย์โทรมากว่าร้อยสาย และปี2566 ที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาฯยังได้ให้คำแนะนำผ่านระบบไปมากกว่า 4 หมื่นครั้ง ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์ พยาบาลได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย รวมถึงยังเป็นระบบที่ช่วยค้นหายาต้านพิษที่อยู่ใกล้เคียงมากที่สุด เพื่อให้มีการประสานแบ่งปันยาต้านพิษระหว่างกัน เพื่อให้ทันท่วงทีต่อการรักษาผู้ป่วยสารพิษ ที่ต้องแข่งกับเวลา 

ศ.นพ.วินัย กล่าวอีกว่า ความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 จากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สปสช. องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สมาคมพิษวิทยาคลินิกแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และศูนย์พิษวิทยารามาฯ ซึ่งจากการประเมินพบว่า โครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารไซยาไนด์ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น สะท้อนว่าบุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยอาการขอสารพิษได้ และรีบทำการรักษาด้วยยาต้านพิษ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตลดลงจาก 52% เหลือ 28% 

“ขณะเดียวกัน ตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ หรือความคุ้มค่า หลังจากมีการบริหารจัดการยาต้านพิษ รวมถึงเซรุ่มต้านพิษงูที่กระจายไปตามความเหมาะสมและประวัติการเกิดเหตุของแต่ละพื้นที่ ก็ทำให้ลดงบประมาณการจัดซื้อยา และผลิตยาได้ถึง 60% และทำให้ยาได้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า และตรงกับความจำเป็นของแต่ละพื้นที่จริงๆ” ศ.นพ.วินัย กล่าว 

หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาฯ กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายด้วยว่า ในปี 2567 นี้ สปสช. ที่นอกจากทำหน้าที่จัดสรรยาต้านพิษเพื่อให้แต่ละโรงพยาบาลได้สำรองยาต้านพิษอย่างเหมาะสมแล้ว ยังจัดสรรงบประมาณบางส่วนเป็นค่าปรึกษาบริการทางการแพทย์กรณีให้คำปรึกษากับบุคลากรของโรงพยาบาลที่ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาต้านพิษ ซึ่งจะช่วยให้ศูนย์พิษวิทยารามาฯ มีงบประมาณเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงพัฒนาการให้บริการ และการวิเคราะห์วางแผน รวมถึงการให้คำปรึกษากับบุคลากรทางการแพทย์ในการร่วมกันรักษาผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย