ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมคณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินทางไปยัง จ.ลำปาง ส่วนหนึ่งก็เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการฉีดวัคซีนเอชพีวี (HPV) เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามนโยบาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. สำหรับหญิงไทยผู้ที่มีอายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดน หนึ่งในนโยบาย Quick Win 100 ที่ขณะนี้ยอดฉีดได้พุ่งไปแล้วกว่า 1.3 ล้านโดส 

ทว่า นอกเหนือจากการดำเนินการตามแผน รมว.สธ. อย่างแข็งขันร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.ลำปาง) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น โรงพยาบาลมะเร็งลำปางซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งก็ยังมีการให้บริการ “เวชศาสตร์นิวเคลียร์” ส่วนนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งการให้บริการที่ตอบสนอง “มะเร็งครบวงจร” นอกเหนือจากการระดมฉีดวัคซีนตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นได้อีกด้วย

“The Coverage” ได้รับโอกาสจาก นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ในการพูดคุยถึงการให้บริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์ของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดในการให้บริการอยู่ในขณะนี้ 

การรักษามะเร็งตามคำบอกเล่าของ นพ.วีรวัต ไม่ได้มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่เฉพาะเจาะจง เพราะในการรักษานั้นมีทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง หรือกระทั่งการให้ยาพุ่งเป้า ขณะที่การรักษามะเร็งด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์นั้นเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของการรักษา ที่เหมาะกับ “โรคมะเร็งไทรอยด์” ได้ดีที่สุดจากการตอบสนองต่อกัมมันตภาพรังสี เนื่องจากมีการจับสารไอโอดีน และมีสารไอโอดีนประเภทกัมมันตรังสีที่จะไปจับเซลล์มะเร็งไทรอยด์ และทำลายได้ 

ขณะเดียวกัน การใช้เวชศาสตร์นิวเคลียร์ยังสามารถช่วยตรวจหาการกระจายของมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น การหาการกระจายของเซลล์มะเร็งในกระดูก เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม “มะเร็งไทรอยด์” ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์มากที่สุดอยู่ดี 

หากมองเป็นภาพเขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ครอบคลุมภาคเหนือตอนบน มีเพียงคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมะเร็งลำปางเท่านั้นที่มีการให้บริการด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์  

นั่นก็เพราะสถานบริการที่จะเปิดให้บริการได้ต้องมีความพร้อม ทั้งห้องควบคุมพิเศษเพื่อป้องกันกัมมันตภาพรังสี บ่อกำจัดสารก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับการให้บริการเวชศาสตร์นิวเคลียร์นั้นต้องเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ หรือสูงกว่า รวมโรงพยาบาลเฉพาะทาง เพราะเมื่อมีการทำงานร่วมกับสารกัมมันตภาพรังสี ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสี มีการตรวจสุขภาพของบุคลากรที่ปฏิบัติงานประจำทุกปีตามมาตรฐานของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติอีกด้วย รวมถึงต้องมีการขออนุญาต มีการตรวจสอบคุณภาพ และดำเนินการตามมาตรฐานอื่นๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ด้วยข้อจำกัดทั้งหมดทำให้การให้บริการการรักษาด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์อาจจะยังทำให้ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทั่วไป 

นพ.วีรวัต สะท้อนปัญหาที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปางยังต้องพบให้ผู้เขียนฟังว่า ข้อจำกัดในการให้บริการไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง (แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์) หากแต่เป็น “ห้องให้บริการ” มากกว่า ที่อาจจะยังติดขัดอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากการให้การรักษานอกเหนือจากการักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ที่ใช้การรักษาด้วยกัมมันตภาพรังสีในปริมาณที่ต่ำแล้วนั้น ยังมีผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ที่ต้องทำการรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD) ที่จำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยกัมมันตภาพรังสีที่สูงต้องอยู่ในห้องเฉพาะที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันการแผ่ของกัมมันตภาพรังสีประมาณ 5-7 วัน

แม้ผู้รับบริการในลักษณะนี้จะมีไม่มาก และใช้รักษาในมะเร็งที่เฉพาะเจาะจงแต่ก็ยังพบว่าต้องมีการรอคิวเพื่อเข้ารับบริการไม่ต่ำว่า 2-3 เดือนแล้วแต่ช่วงระยะเวลา นั่นก็เป็นเพราะข้อจำกัดของห้องที่ต้องมีลักษณะเฉพาะ และมีมาตรฐานที่สูงเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชน

“ขณะนี้โรงพยาบาลมะเร็งลำปางมีห้องสำหรับให้บริการผู้ป่วยในอยู่ 5 ห้อง ทำให้ยังมีระยะเวลาในการรอคอยมากพอสมควร แต่ก็ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถจัดการได้” 

ทว่า แม้ผู้ป่วยยังต้องรอคิวเพื่อทำการรักษาด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์กันเป็นหลักเดือน แต่ นพ.วีรวัต บอกกับผู้เขียนว่าอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมาก เนื่องจากการรักษายังมีการผ่าตัด และอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เวลลาเพื่อให้แผลสมานตัว ฉะนั้นระยะเวลาการรอจึงไม่ได้ห่างกับการรอแผลสมานมากนัก 

อย่างไรก็ดี เมื่อเห็นปัญหาและข้อจำกัดที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ภายใต้การนำของ นพ.วีรวัต ก็มีแผนที่จะขยายห้องสำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ที่ต้องทำการรักษาแบบผู้ป่วยในเพิ่มจาก 5 ห้องเป็น 8 ห้อง รวมถึงกำลังจะสร้างบ่อจำกัดกัมมันตภาพรังสีเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้ โดยกระบวนการดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานเอาไว้อีกด้วย

“ในภาพรวมก็มีความพยายามที่จะพัฒนาการเพิ่มศักยภาพในการรักษาของแต่ละที่เพื่อรองรับการเติบโตของประชากร เพราะผมคิดว่าเมื่อมีประชากรมากขึ้น โรคมะเร็งชนิดนี้ก็อาจจะมีเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย” 

สำหรับโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ในทุกสิทธิการรักษา โดยมีผู้เข้ามาใช้บริการในการรักษาโรคมะเร็งด้วยการกลืนสารกัมมันตภาพรังสีไอโอดีน ประมาณ 200-250 รายต่อปี การรักษาด้วยการกลืนกัมมันตภาพรังสีสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ประมาณ 300-400 รายต่อปี และการตรวจหาการกระจายของโรคมะเร็งไปยังกระดูกประมาณกว่า 1,000 รายต่อปี 

ขณะเดียวกันก็มีแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพเฉพาะอยู่ประจำโรงพยาบาล จำนวน 2 คน และยังมีทีมนักรังสีนิวเคลียร์ พยาบาลวิชาชีพคอยให้บริการแบบครบทีมอีกด้วย