ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชุมชนใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน กำลังเผชิญกับความเสี่ยงของมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ประเทศลาว ซึ่งพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าวนั้นติดกับพื้นที่ จ.น่าน ของประเทศไทย โดยการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดมลพิษหลายชนิด โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ อาทิ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โลหะหนัก ปรอท ฯลฯ 

เนื่องจากโรงไฟฟ้าฯ ตั้งอยู่ในฝั่งประเทศลาว จึงไม่มีข้อผูกมัดในการดำเนินการควบคุมเฝ้าระวังในฝั่งไทย โดยยังไม่มีข้อบังคับหรือข้อตกลงทางกฎหมายข้ามพรมแดนบังคับใช้ เพื่อควบคุมผลกระทบจากมลพิษที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของการลงพื้นที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อรวบรวมข้อมูล กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาดังกล่าว และจัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจากทุกฝ่าย เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาการปรับแก้กลไกและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและระดับประชาคมอาเซียน 

4

สำหรับการลงพื้นที่และจัดเวทีดังกล่าวนำโดย น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการหารือการแก้ปัญหาร่วมกัน อาทิ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ TPBS

น.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัย สวรส. และ รศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิจัย สวรส. รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลท่าวังผา สำนักงานจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 (ลำปาง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ฯลฯ ณ ห้องประชุมเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ศาลากลาง จ.น่าน

4

ด้วยเพราะผลกระทบทางสุขภาพจากสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญ โดยผลกระทบเป็นการก่อตัวและสะสมในระยะยาว ซึ่งกว่าจะรู้ว่าเกิดความผิดปกติกับร่างกาย ก็อาจสายเกินแก้ ดังนั้นระบบการเฝ้าระวังตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เป็นเหมือน early warning sign โดยใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นตัวบ่งชี้และใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะแสดงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญ

ทั้งนี้ เวทีการประชุมดังกล่าวจึงมีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยของ สวรส. เรื่อง “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จ.น่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ประเทศลาว” เป็นข้อมูลตั้งต้นในการเปิดการรับฟังข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 

4

น.ส.สมพร ให้ข้อมูลจากงานวิจัยว่า หัวใจสำคัญของการวิจัยคือการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยการพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับคนในชุมชน และการสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เพื่อนำไปสู่การร่วมออกแบบมาตรการการแก้ปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากมลพิษข้ามพรมแดน โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นตัวชี้วัดสำคัญ

อีกทั้งเป็นการพัฒนาระบบที่ดึงความเชี่ยวชาญจากหลากหลายศาสตร์มาเสริมกำลังในการค้นหาความจริงเชิงประจักษ์ โดยงานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแบบข้ามศาสตร์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน ผ่านการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน ควบคู่กับการพัฒนารูปแบบและกระบวนการสร้างความรู้ร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับชุมชนในการรู้เท่าทันมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

4

น.ส.สมพร อธิบายต่อไปว่า ในงานวิจัยในระยะแรกที่ผ่านมา เป็นการใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์มลพิษจากแหล่งกำเนิด และใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์คำนวณจุดตกสะสมของมลพิษ แล้วกำหนดขอบเขตพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ กำหนดพารามิเตอร์ในการตรวจวัด รวมถึงพัฒนาตัวชี้วัดและเครื่องมือสำหรับชุมชนในการตรวจติดตามและเฝ้าระวังมลพิษ พัฒนาระบบบันทึกข้อมูล การสร้าง databased เพื่อคาดการณ์แนวโน้ม 

ตลอดจนการสร้างและพัฒนาเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง มีการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศ เก็บตัวอย่างดินและตะกอนดินในลำห้วย เก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน น้ำฝน ปลา เส้นผมชาวบ้าน ไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์พบภาวะก๊าซกรด ซึ่งสัมพันธ์กับการพบพืชผลทางการเกษตรในชุมชนที่เสียหาย เช่น เมล็ดข้าวลีบ เกิดโรคระบาดในพืช พบการปนเปื้อนของปรอทในตะกอนดิน ในปลา และในเส้นผมของหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยในปลาพบการปนเปื้อนของปรอท 0.16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม 

5

นอกจากนี้ ปริมาณสารปรอทดังกล่าวมีโอกาสที่จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อได้รับสะสมเป็นระยะเวลานาน ด้านค่าฝุ่น PM 2.5 พบว่าในช่วงเดือนเมษายน 2565 มีค่าเฉลี่ย 64.89 µg/m3 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สูงกว่าเดือนมิถุนายน 2565 ที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 45.20 µg/m3 ซึ่งค่าเฉลี่ยปกติของค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37.5 µg/m3 นอกจากนั้นยังตรวจพบปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ตา จมูก คอ และระบบทางเดินหายใจ 

อย่างไรก็ดี ชุมชนได้มีการทำแผนที่ความเสี่ยง เพื่อติดตามการปนเปื้อน และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมีผลต่อภาคการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของชุมชน รวมทั้งการปนเปื้อนของมลพิษในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคและการเจ็บป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ แม่และเด็ก ฯลฯ 

5

น.ส.สมพร ย้ำถึงข้อเสนอจากงานวิจัยว่า จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะสำคัญ 4 ประเด็น 1. ควรผลักดันให้มีการกำกับการปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยการติดเครื่องดักปรอท และปรับปรุงประสิทธิภาพเทคโนโลยีในการดักจับฝุ่น, ดักจับไนโตรเจนออกไซต์และซัลเฟอร์ออกไซต์ โดยควรดำเนินงานผ่านกลไกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียนรวมถึงใช้กลไกของสถาบันการเงินในการตรวจสอบตามหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และในระยะยาวควรผลักดันให้มีกลไกกำกับมลพิษข้ามแดนในอาเซียน 

2. ควรมีระบบเฝ้าระวังผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังด้วยตนเอง และมทำงานร่วมกันกับนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และโรงไฟฟ้าหงสาด้วย 3. ควรมีกระบวนการติดตามและตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้น และหากพิสูจน์ได้ว่าผลกระทบดังกล่าวมาจากมลพิษของโรงไฟฟ้าหงสา ควรให้โรงไฟฟ้ามีการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม รวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4. ควรผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม ในหมวดที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมกำกับดูแลมลพิษข้ามแดน โดยใช้งานวิจัยนี้เป็นกรณีศึกษา

5

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวเสริมว่า งานวิจัยจึงเป็นเหมือนการหาหลักฐานและข้อเท็จจริงมานำทาง เพื่อดูว่าจะไปต่ออย่างไร และเป็นการพัฒนาเชิงระบบที่มีการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ซึ่ง จ.น่านนับเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนสูงในเรื่องของความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และเวทีการหารือกันในวันนี้ทำให้มีการเชื่อมโยงเครือข่าย และเห็นโอกาสของการพัฒนางานร่วมกันในอนาคต 

รวมทั้งหลังจากมีการพูดคุยกันในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ภาคเอกชนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม หากได้รับข้อมูลชัดเจนว่าการประกอบการโรงไฟฟ้าฯ ที่ทำอยู่ ควรมีการปรับการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน เพื่อลดผลกระทบกับชุมชนในพื้นที่  

5

ทพ.จเร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สวรส. กำลังดำเนินการวิจัยในระยะที่สอง โดยจะเน้นไปที่การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้จำนวนมากขึ้น โดยจะเปิดพื้นที่แชร์ข้อมูลและแปรผลร่วมกัน ตลอดจนมีการสื่อสารความเสี่ยงที่พบ แล้วนำไปสู่การผลักดันให้ระบบการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพเป็นเรื่องที่หน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการวางแผนแก้ปัญหา โดยงานวิจัยจะส่งต่อข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 

รวมถึงการขับเคลื่อนให้เกิดกลไกในการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม และหลังจากนี้ สวรส. อาจมีการขยายผลโมเดลการเฝ้าระวังทางด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ด้วย เช่น พื้นที่ที่มีการทำเหมืองทอง, โรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นต้น