ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘สธ.-กต.-สปสช.-สวรส.-IHPP-WHO’ เปิดประชุมนานาชาติ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย’ ทบทวนความสำเร็จ-สำรวจความท้าทายอนาคต ก้าวสู่ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 


วันที่ 12 ธ.ค. 2566 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดการประชุมระดับนานาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (National UHC Conference 2023) ภายใต้หัวข้อ “ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต” 

1

รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงาน และปาฐกถาตอนหนึ่งในหัวข้อ “ทบทวนความก้าวหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย: อะไรคือความสำเร็จ และความท้าทาย” ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของประเทศที่จะได้ทบทวนความสำเร็จระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นเวทีการประชุมที่ทุกภาคส่วนจะได้มองหาความท้าทายใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และยกระดับระบบบริการสุขภาพให้กับคนไทย 

พร้อมกันนี้ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (UNGA) ล่าสุด ครั้งที่ 78 ประเทศสมาชิกยังแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันเร่งรัดบรรลุการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันของทุกภาคส่วนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ 

"รัฐบาลมีความชัดเจนในการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้เป็นการยกระดับที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในสังคม ที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เป็นระบบหลักประกันฯ ที่เหมาะสมกับชีวิตของคนในปัจจุบัน" รศ.นพ.เชิดชัย กล่าว 

1

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และทำจนเป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะการเพิ่มและขยายชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู อีกทั้งยังเป็นระบบที่ช่วยให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจของความยั่งยืนในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ 

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ละประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทายทางด้านสุขภาพในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS) สังคมผู้สูงอายุ เป็นอาทิ แต่ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีการพัฒนาและยกระดับต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการจัดการความท้าทายที่จะเกิดขึ้น 

ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวอีกว่า ในปี 2569 ประเทศไทยยังเป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารโลก หรือ  Annual Meetings World Bank & IMF 2026 ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่นานาชาติจะได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะกับความท้าทายใหม่ๆ ทางด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงมายังเรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน 

4

ศ.ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมากต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเห็นได้จากผลสำเร็จจากการดำเนินงานที่ผ่านมา จนทำให้ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลกให้มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการหลักประกันสุขภาพด้วยงบประมาณที่จำกัด 

"ที่สำคัญ ประเทศข้างเคียงในภูมิภาค และนอกภูมิภาค ยังได้เห็นถึงกระบวนการจัดการ ซึ่งเป็นแนวทางของการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ ที่เชื่อมโยงกับระบบบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะการจัดการโรค NCDs รวมไปถึงจัดการปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค เพื่อส่งเสริมป้องกันมากกว่าการรักษา ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ประเทศไทยมีความสำเร็จในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยกระดับได้อย่างต่อเนื่อง" ศ.ดร.พูนาม กล่าว

ศ.แอนน์ มิลส์ ศาสตราจารย์ด้านนโยบาย และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน ระบุว่า ประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้จากประเทศไทยใน 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ 1. การมีผู้นำระดับประเทศที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาว เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยถูกพัฒนาขึ้นในประเทศ การมีผู้นำด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งและมีประสบการณ์สามารถวางแผนเพื่อปฏิบัติได้จริงจนบรรลุวิสัยทัศน์ได้ 

4

2. สร้างวิสัยทัศน์ และวางแผนการพัฒนาโดยใช้ความรู้เชิงลึกของระบบสุขภาพไทย และเรียนรู้จากประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ เพื่อนำมาปรับใช้ 3. วิวัฒนาการ และการพัฒนาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเกิดจากข้อมูลงงานวิจัย และมีการประเมินการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และ 4. การออกแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยสำคัญต่อความยั่งยืนในอนาคต 

อย่างไรก็ดี ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ รู้สึกสนใจในการเงินการคลัง และโครงสร้างของระบบบริการสุขภาพ ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักสามารถควบคุมงบประมาณ และป้องกันจากภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนที่สูงขึ้นที่ยังคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ

“ประเทศไทยแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงคุณค่า ทั้งการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง การจัดทำงบประมาณที่โปร่งใส และการซื้อบริการทางสุขภาพเชิงกลยุทธ์ การจ่ายค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายหัว และการจ่ายค่าบริการ ตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมภายใต้เพดานงบประมาณ ตลอดจนการใช้ระบบการจ่ายเงินค่าบริการในการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ” ศ.แอนน์ ระบุ 

5

ด้าน นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับ สธ. ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในเวทีระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสมาชิกกลุ่ม Foreign Policy and Global Health : FPGS อันประกอบด้วย นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการทูตสาธารณสุข

ทั้งนี้ ในปีหน้าสหประชาชาติจะมีการจัดประชุมสุดยอดการเปิดแผนจัดเวทีแห่งอนาคต (Summit of The Future) ที่จะเป็นโอกาสสำหรับทุกฝ่ายในการร่วมมือกัน รวมไปถึงการปฏิรูปธรรมมาภิบาลโลกที่ควรส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่การพลักกดันความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง

“โดยจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสังคม ในกระบวนการตัดสินใจตลอดจนการขยายบริการด้านการ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันฯ และมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดความคืบหน้าด้านสาธารณสุขโลก ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษย์ชนทั้งโลก รวมสิทธิทุกคนที่จะมีสุขภาพกาย จิต ตามมาตรฐานสูงสุดที่จะเป็นไปได้” นายจักรพงษ์ กล่าว

4

ขณะที่ นางปรียา สิงห์นฤหล้า ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก ระบุว่า 

สำหรับโรคหายากยังคงเป็นความท้าทายในระดับโลก เนื่องจากยังมีประชากรกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกยังป่วยด้วยโรคหายากอย่างน้อย 1 โรค ซึ่งบทบาทของมูลนิธิโรคหายากที่ผ่านมาจะเน้นการสร้างความตระหนักรู้ สร้างเครือข่ายพันธมิตร และขับเคลื่อนเรื่องระบบส่งต่อ หรือระบบคัดกรองในทารกแรกเกิด 

“ประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงโรคหายากตั้งแต่ปี 2554 และได้มีการจัดกิจกรรมขึ้นทุกปี เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และสร้างเครือข่าย จนนำมาสู่การการกำหนดเป็นนโยบายในระบบหลักประกันฯ ในเรื่องโรคหายาก 24 โรค” นางปรียา ระบุ

นางปรียา กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความท้าทายเรื่องระบบบริการสุขภาพ เช่น การเข้าถึงการวินิจที่รวดเร็วซึ่งอาจจะยังไม่พอ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตของครอบครัวผู้ป่วยโรคหายากที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 50% ของครอบครัวเพื่อใช้เอาไว้สำหรับการดูแลต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องระบบข้อมูล เนื่องจากส่วนมากยังเป็นภาษาอังกฤษที่มาจากหลายกลากแหล่ง รวมถึงระบบการเงิน และระบบยาที่ยังต้องการความเท่าเทียมในการเข้าถึง 

4