ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก พัฒนาระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (HINT) ขึ้นทะเบียนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิแบบเรียลไทม์ อนุมัติสิทธิภายใน 5 นาที จากเดิม 1-2 สัปดาห์ พร้อมเชื่อมระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน ช่วยพิจารณาผลเบิกจ่ายให้ รพ. ใน 24 ชั่วโมงและโอนเงินใน 15 วัน นำร่องทดสอบระบบในโรงพยาบาล 18 แห่งของ จ.เชียงราย เพื่อเตรียมเปิดใช้งานทั่วประเทศ 1 ม.ค .นี้


นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงประเด็นการพัฒนาระบบสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ซึ่งอยู่ในนโยบายยกระดับ 30 บาท และนโยบาย สธ. ปี 2567 ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ว่า การดำเนินการในช่วง Quick Win 100 วัน จะมุ่ง 2 ประเด็น คือ การขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายแบบ Real Time ของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และการลงทะเบียนเพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มประชากรเฉพาะ 

ทั้งนี้ สธ. ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) พัฒนาระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (Health Insurance for Non-Thai People System : HINT) ซึ่งจะดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1. ขึ้นทะเบียนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิแบบ Real Time  อนุมัติสิทธิภายใน 5 นาที จากเดิมที่ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ 

2. เบิกชดเชยค่าบริการทางการแพทย์จากกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub : FDH) กระทรวงสาธารณสุข สามารถพิจารณาผลการเบิกจ่ายภายใน 24 ชั่วโมง และโอนเงินให้หน่วยบริการภายใน 15 วัน และ 3.ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนสำหรับบุคคลที่ไม่มีเอกสารประจำตัวในประเทศไทย เพื่อการสาธารณสุข 

ด้าน นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ประเด็นระบบสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ล่าสุดช่วงวันที่ 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่ร่วมกับ Miss Aree Moungsookjareoun, National Professional Officer (EPI, eHealth and Migrant/Border Health) ผู้แทนองค์การอนามัยโลก และคณะ

เพื่อติดตามผลและทดสอบระบบการดำเนินงานรับ-ส่งข้อมูลเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ผ่านระบบ HINT ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมถึงรับฟังความเห็นจากบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในพื้นที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย 

พร้อมทั้งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการรับ–ส่ง ข้อมูลทะเบียนและการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ สำหรับโรงพยาบาลนำร่องในจังหวัดเชียงรายทั้ง 18 แห่ง เพื่อนำผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากบุคลากรในหน่วยบริการ มาปรับปรุงระบบ HINT ให้พร้อมเปิดให้หน่วยบริการทั่วประเทศส่งข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยสามารถส่งข้อมูลย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นมา