ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลังจาก 33 ปีที่มีการก่อตั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มานั้น ปี 2566 นี้นับเป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมสมัครลงเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) และเป็นปีแรกที่ให้ผู้ประกันตนจะได้เลือกตั้งผู้แทนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เสนอความคิดเห็น นโยบาย ดูแลงบประมาณ รวมถึงจัดการบริหาร “กองทุนประกันสังคม” และสิ่งนี้เป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้ประกันตนจะร่วมพัฒนาคุณภาพการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นด้วย

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้จัดเวทีสภาผู้บริโภค หัวข้อ “ส่องนโยบายเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม กับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน” โดยเชิญผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมเข้าร่วมจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า, ทีม #3ขอต้องไปต่อ, ทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, ทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)

เพื่อให้ทั้ง 5 ทีมได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการลงสมัครเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมและมุมมองต่อการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนด้านทันตกรรมและการรักษาโรคมะเร็งให้ทัดเทียมกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า เวทีสภาผู้บริโภคครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินให้กับกองทุนประกันสังคมได้รับฟังข้อมูลและนโยบายต่างๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตนเอง ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค. 2566 นี้ จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคที่อยู่ในระบบประกันสังคมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมและเลือกผู้ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น

สำหรับในการแสดงวิสัยทัศน์ของแต่ละทีมนั้นมีการนำเสนอนโยบายของตนเองในแต่ละประเด็นไว้ได้อย่างน่าสนใจ เริ่มจาก ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้แทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ 27, 28, 29, 30, 31, 32, 33, 34) มีความคิดเห็นว่า ประกันสังคมเป็นสวัสดิการพื้นฐานสำหรับคนทำงานหนักและเป็นเครื่องหมายของประชาธิปไตย โดยมีสโลแกน คือ ‘ประกันสังคมก้าวหน้า ก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ’

1

รวมถึงมีนโยบายชูโรงถึง 14 ข้อ ได้แก่ 1. เพิ่มค่าทำคลอดบุตร เป็น 20,000 บาทต่อครั้ง จากเดิม 15,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง สนับสนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน 2. เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก 0 - 6 ปี จาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน 3. เพิ่มเงินดูแลเด็ก 7 - 12 ปี จากเดิมที่ไม่มีให้ เป็นปีละ 7,200 บาท 4. ชดเชยการลา เพื่อดูแลคนในครอบครัว วันละ 300 บาท 5. เพิ่มประกันการว่างงาน สูงสุด 9 เดือน

6. ปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่ เพื่อบำนาญที่เป็นธรรม เพื่อป้องกันการเสียประโยชน์ เมื่อ 60 เดือนสุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 39 โดยมีเป้าหมายให้ได้รับบำนาญไม่ตำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน 7. สินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.99 ต่อปี 8. ขยายสิทธิประโยชน์คนพิการ ไม่ตัดสิทธิการใช้ร่วมกับสวัสดิการอื่น รักษาพยาบาลได้ทุกที่ 9. ประกันสังคมถ้วนหน้า พื้นฐานสำหรับแรงงานอิสระทั้งระบบ วางระบบระยะยาวใน 2 ปี

10. พัฒนาบัญชียาเดียวกัน ไม่น้อยกว่าราชการและบัตรทอง ไม่ต้องสำรองจ่ายทุกกรณี 11. สิทธิทันตกรรม รักษารากฟันเทียม เชื่อมโยงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหมาจ่าย 17,500 บาท ตลอดการรักษา 12. ปรับเงื่อนไขการรับบำนาญ บำเหน็จ แรงงานข้ามชาติเข้ากับสภาพการทำงาน รวมทั้งปรับเงื่อนไขให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งและสมัคร เป็นบอร์ดประกันสังคม 13. วางเงื่อนไขการลงทุน และบริษัทคู่สัญญา ต้องไม่กดขี่แรงงาน การลงทุนขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบได้ ยึดโยงกับผู้ประกันสังคม 14. เป็นองค์กรอิสระ ตรวจสอบได้ ไม่ผู้ติดกับระบบอุปถัมภ์ใด ๆ

“นโยบายต่าง ๆ ที่เสนอไปข้างต้น จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอยากขอความร่วมมือจากทุกทีมที่ลงสมัครคณะกรรมการประกันสังคมและได้รับเลือกให้เป็นบอร์ดประกันสังคม งดดูงานต่างประเทศเป็นเวลา 2 ปี และนำงบประมาณในส่วนนั้นมาดูแลสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนทุกคน ฝากเลือกทีมประกันสังคมก้าวหน้า เบอร์ 27 - 33 ที่จะทำให้คนธรรมดาอย่างเราคิดฝันได้ วันที่ 24 ธันวาคม 2566 นี้ ไปเลือกตั้งทำให้ประกันสังคมไม่เหมือนเดิม” ษัษฐรัมย์ กล่าว

ทั้งนี้ จุดยืนหลักของทีมประกันสังคมก้าวหน้า คือ การรักษาพยาบาลหากสามารถขยับสู่มาตรฐานเดียวกับข้าราชการโดยใช้บัญชียาเดียวกันได้ ตัวยาบางตัวที่มีในบัญชียาข้าราชการแต่ไม่มีในบัญชียาประกันสังคมสามารถลดการสูญเสียได้ หากแก้กฎระเบียบนี้ได้ การรักษาพยาบาลจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่สามารถเป็นสิทธิยืนพื้นได้ และยกระดับการดึงสิทธิบัตรทองมาใช้

ขณะที่ บูรณ์ อารยพล ผู้แทนทีม #3ขอต้องไปต่อ (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ 8, 21, 57, 58, 95, 177, 200) กล่าวว่า ทีมของตนเองมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบประกันสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่ผ่านมาตนเองทำงานมาทั้งหมด 20 ปี สัมผัสได้ว่าประกันสังคมมีมา 33 ปี มีแต่การบังคับ บังคับเข้า บังคับออก บังคับส่งเงินเข้ากองทุน ในขณะที่ตนเองมีความคิดเห็นว่าควรมีนโยบายที่ดีกว่านี้เพื่อให้เกิดความสมัครใจเป็นผู้ประกันตนแทนการบังคับเข้าระบบและต้องจ่ายให้แก่กองทุนประกันสังคม

2

ทั้งนี้ ทีม #3ขอต้องไปต่อ ได้ชู 3 นโยบายหลัก ได้แก่ ขอเลือก (ขอเลือกระหว่างบำเหน็จหรือบำนาญ) ขอกู้ (ขอกู้เงิน อย่างน้อยร้อยละ 50 ในส่วนของตนเอง) ขอคืน (ขอคืนเงินชราภาพร้อยละ 50 เพื่อนำไปลงทุนและใช้หนี้) นอกจากนี้ยังมีอีก 12 นโยบายที่ต้องการผลักดัน ได้แก่ 1. เลือกเงินชราภาพบำเหน็จหรือบำนาญได้ 2. ขอคืนเงินชราภาพร้อยละ 50 ได้ก่อนอายุ 55 ปี 3. ประกันสังคมค่ำประกันเงินกู้ 50% ให้ผู้ประกันตน

4. กองทุนประกันสังคมโปร่งใส รายงานผลดำเนินงานทุกเดือน 5. บำเหน็จชราภาพต้องได้ในส่วนของรัฐบาลทุกเดือนและทุกปี 6. รักษาพยาบาลฟรีกับ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง 7. เอกชนรักษาได้เดือนละ 2,000 บาท 8. การคำนวณบำนาญชราภาพที่เป็นธรรมกับทุกมาตรา มาตรา 33 และ 39 เลือกส่งสมทบได้ตามชอบ

9. ประกันสังคมดำเนินธุรกิจการเงินขนาดย่อมแก่ประชาชนทั่วไปได้ เช่นฝาก ถอน สินเชื่อ ขายประกัน โดยให้สิทธิพิเศษกับผู้ประกันตน 10. มาตรา 40 ใช้สิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลได้ 11. ผู้รับบำนาญชราภาพไม่ถูกตัดสิทธิรักษาพยาบาลกับประกันสังคม 12. ประกันสังคม รับจดแจ้งและจัดเก็บรายชื่อผู้รับประโยชน์ (รับมรดก) ของผู้ประกันตนอย่างเป็นระบบ

“ประกันสังคมเกิดก่อนบัตรทอง 12 ปี แต่กลับพัฒนาช้ากว่าบัตรทอง สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมล้าหลัง อาจต้องพึ่งพาหน่วยงาน อยากได้ยินคำว่าประกันสังคม บัตรทอง ข้าราชการ เป็นมาตรฐานเดียวกัน” บูรณ์ ระบุ

ด้าน สุนทรี เซ่งกิ่ง ผู้แทนทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ เบอร์ 4 6 10 11 19 22 23) กล่าวว่า ทีมสมานฉันท์ฯ ต้องการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และยกระดับผู้ประกันตนมีสิทธิเท่ากันทุกมาตราและมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ทีมสมานฉันท์ฯ เป็นทีมที่มีคนทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตน ม.33, ม.40 อีกทั้งยังมีผู้นำแรงงาน และนักวิชาการ ที่รวมตัวกันเพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์แรงงาน และสนับสนุนให้สวัสดิการด้านสุขภาพให้เท่าเทียมสิทธิบัตรทอง

3

“เราต้องปฏิรูปตัวสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ มีกลไกการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ได้ และควรถูกเปิดเผยให้ผู้ประกันตนได้รับรู้ นอกจากนี้ต้องการให้สิทธิประโยชน์ของทุกมาตราเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้มีความคิดเห็นว่าผู้ประกันตนควรได้รับเงินชดเชย 50% ใน 6 เดือน ของฐานค่าจ้าง หากอยู่ระหว่างการว่างงานไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม หรือการเพิ่มความคุ้มครองแรงงานหญิงนอกระบบหลังคลอด รวมถึงต้องการให้สิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมเท่าเทียมกับสิทธิอื่น ๆ” ผู้แทนทีมสมาพันธ์สมานฉันท์ฯ ระบุ

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย ธนาคารแรงงาน เพื่อปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกันตนได้ดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยตรง ที่ผ่านมาผู้ประกันตนไปกู้เงินกับบริษัทเงินกู้ซึ่งคิดดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ต้องกลายเป็นหนี้ ในขณะที่กองทุนประกันสังคมกลับร่ำรวย จึงควรนำเงินมาช่วยผู้ประกันตนทั้งที่เขาเป็นเจ้าของกองทุนหากผู้ประกันตนสามารถกู้เงินของผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบได้เอง ในดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

“เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นทีมเราหรือทีมอื่น ๆ เมื่อได้รับเลือกจากผู้ประกันตนควรจะต้องเป็นข้อเสนอนโยบายที่มาจากผู้ประกันตนและเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งเป็นพลังที่ทำให้เราขับเคลื่อนงานได้ นอกจากนี้เราต้องเชื่อมั่นว่าเรามาจากฐานของผู้ประกันตน สุดท้ายนี้ ทีมสมานฉันท์ฯ ขออาสาเข้าไปปฏิรูปประกันสังคม ด้วยการเชิญชวนผู้ประกันตนทุกคนออกมาเลือกตั้ง 24 ธันวาคม 66 นี้” นางสุนทรี กล่าวทิ้งท้าย

ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้แทนทีมสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ เบอร์ 83 - 89) ธีรสุวัฒน์ สิงหนิยม บอกว่า ทีมสภาองค์การลูกจ้างฯ ต้องการสร้างประกันสังคมให้สามารถดูแลผู้ประกันตนได้อย่างแท้จริง ผ่าน 9 นโยบาย ได้แก่ 1. เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 800 บาท เป็น 3,000 บาท 2. เพิ่มเงินบำนาญชราภาพ ให้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท 3. เพิ่มเงินกองทุนให้ผู้ประกันตนมีตัวเลือกที่มากขึ้น เช่น กองทุนบำนาญ บำเหน็จ หรือกองทุนชราภาพ

4

4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้มีดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย 5. เพิ่มเงินช่วยเหลือค่าปลงศพ จาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท 6. ปรับลดอัตราเงินสบทบเหลือร้อยละ 2.75 7. สร้างโรงพยาบาลประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน 8. ตั้งธนาคารผู้ประกันตน และ 9. ให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ

“นโยบายของทุกทีมเป็นนโยบายที่ดีที่ทำเพื่อผู้ประกันตน แต่การจะทำให้นโยบายได้รับการอนุมัติเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแต่ละนโยบายของเรามีที่มาที่ไปของข้อมูล รวมถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้และไม่สร้างผลกระทบให้กับฝ่ายใด และผมเชื่อว่าหากได้รับเลือกจากผู้ประกันตน จะช่วยสร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายให้ได้การยอมรับและสามารถผลักดันนโยบายให้เป็นจริงต่อไปได้” ธีรสุวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเด็นการจัดตั้งธนาคารแรงงานนั้น ทีมสภาองค์การลูกจ้างฯ มีความคิดเห็นว่า จะต้องใช้เวลาในการจัดตั้งรวมถึงยังต้องแก้ไขกฎหมาย ขณะนี้จึงเกิดนโยบายการปล่อยสินเชื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อให้ผู้ประกันตนจ่ายสินเชื่อน้อยลง ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีและควรผลักดันต่อ เนื่องจากเป็นการนำเงินของผู้ประกันจนมาบริหารให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ยังต้องการผลักดันโรงพยาบาลประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้ประกันตน อย่างไรก็ตาม ทีมสภาองค์การลูกจ้างฯ มีใจเพื่อผู้ประกันตน และจะขอยกระดับสวัสดิการประกันสังคมให้เป็นมาตรฐาน และเป็นที่พึ่งพิงแก่ผู้ประกันตนได้ผ่าน 9 นโยบายข้างต้น

ปิดท้ายที่ ศิริศักดิ์ บัวชุม ผู้แทนทีมเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (เบอร์สมาชิกที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ เบอร์ 2 5 7 9 43 45 60) กล่าวว่า เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานเป็นทีมของตัวแทนคนทำงาน โดยการรวมตัวกันของพนักงานภาครัฐ ภาคเอกชน แรงงานนอกระบบ และแรงงานในระบบ ซึ่งจะมีการรณรงค์ส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการปฏิรูปประกันสังคม

5

ศิริศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นโยบายที่เห็นว่าควรเร่งทำด่วนหากได้เข้าไปเป็นบอร์ดประกันสัง ได้แก่ 1. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารแรงงาน 2. สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันทางการแพทย์ 3. ปฏิรูปการลงทุนประกันสังคม 4. พัฒนาสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาล และ 5. ขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

มากไปกว่านั้น ในส่วนนโยบายธนาคารแรงงาน เป็นนโยบายที่สำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดเพื่อเป็นธนาคารเฉพาะกิจของคนทำงานและเพื่อบรรเทาให้ผู้ประกันตนไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ นอกจากนี้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล เป็นสิ่งที่ต้องเร่งผลักดัน โดยเฉพาะการผลักดันด้านสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรม โดยมีจะมีการปรับอัตราค่ารักษาให้เท่าเทียมสิทธิอื่น และนอกจากนี้จะมีการสนับสนุนให้จัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับประกันสังคมเป็นนโยบายเร่งด่วน เนื่องจากหากมีโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตนจะสามารถจัดการรูปแบบการให้บริการและสิทธิประโยชน์ได้ดีกว่าเดิม

“นโยบายที่เรานำเสนอมาจากความต้องการของผู้ประกันตนและมาจากคนที่มีความต้องการจริง ๆ เพราะเมื่อเราพบประเด็นปัญหาจะมีการศึกษาและนำมาสู่นโยบาย โดยนโยบายเร่งด่วนที่ต้องการเสนอ คือ ธนาคารแรงงาน เพราะเรามองเห็นว่าพี่น้องแรงงานมีประเด็นปัญหาเหล่านี้ จึงควรมีธนาคารเฉพาะกิจเพื่อพี่น้องคนทำงาน แต่แน่นอนว่าการผลักดันนโยบายด้วยเสียงเดียวของพวกเราอาจไม่ดังมากพอ แต่มองว่าเสียงของผู้ประกันตนจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ จึงขอเชิญชวนผู้ประกันตนทุกคนออกมาเลือกตั้ง และเลือกผู้แทนที่จะมาปฏิรูประบบประกันสังคมให้โปร่งใสและเป็นธรรม” ศิริศักดิ์ กล่าว