ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสุภัทร” จัดบริการ “รถตู้รับ-ส่งผู้ป่วย” รองรับ 13 คน 6 คู่ พร้อมวางระบบร่วมจ่าย “คนละ 75 บาทต่อเที่ยว” เป็นของขวัญปีใหม่ ลดภาระผู้ป่วย หลังพบต้องเหมารถเข้าเมืองครั้งละ 2,000 บาท ย้ำ เป็นการแก้ปัญหาเบื้องต้น ยังต้องศึกษาว่าเป็นตามระเบียบหรือไม่


จากกรณีที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ถึงการที่ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 2,000 บาทต่อครั้งในการเหมารถเพื่อเข้าไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของจังหวัดที่ต้องการลดความแออัดของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ทว่า สิ่งนี้เองทำให้เกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องแบกรับนอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากระยะทางจาก อ.สะบ้าย้อย เข้าไปยังตัว จ.สงขลา นั้นอยู่ที่ 100 กม.

ล่าสุด นพ.สุภัทร เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ได้คิดวิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นจากกรณีดังกล่าวแล้ว ซึ่งใช้เวลาคิดประมาณ 3-4 วันหลังจากที่ได้โพสต์ปัญหาของผู้ป่วยลงบนเฟซบุ๊ก โดยจะเป็นการใช้รถตู้จากโรงพยาบาลจัดบริการให้ผู้ป่วยหรือญาติที่ต้องเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลสงขลา สามารถใช้บริการทุกวันเวลาราชการได้โดยเป็นการร่วมจ่าย เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2567 ให้กับผู้ป่วย

สำหรับการจัดรถรับส่งนั้น รถตู้ของโรงพยาบาลที่มีอยู่ 1 คัน จะสามารถบรรจุได้ 13 คน รองรับญาติ และผู้ป่วยได้ 6 คู่ เริ่มตั้งแต่ 7.00 น. ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ไปถึงโรงพยาบาลสงขลา เวลา 8.30 น. และจะออกจากโรงพยาบาลสงขลาในเวลา 16.00 น. ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็จะสามารถเริ่มใช้ได้วันที่ 2 ม.ค. 2567 

ทั้งนี้ ในส่วนค่าใช้จ่าย ซึ่งได้วางไว้ว่าจะเป็นระบบร่วมจ่าย ระหว่างโรงพยาบาลและผู้ป่วย โดยจะคิดค่าบริการคนละ 75 บาทต่อ 1 เที่ยว หากไปกลับจะอยู่ที่คนละ 150 บาท หากเป็นคู่ก็จะตก 300 บาท ซึ่งประเมินว่าเป็นราคาที่ผู้ป่วยสามารถจ่ายได้ ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำมันไปกลับ ระยะทาง 200 กม. ประมาณ 1,000 บาท ค่าจ้างคนขับรถ 500 บาท ค่าซ่อมบำรุง ฯลฯ โรงพยาบาลสะบ้าย้อยจะเป็นผู้รับผิดชอบเอง

“ราคานี้ที่ทำได้เพราะใช้รถโรงพยาบาล และที่ทำได้ก็เพราะไม่มีต้นทุนการบำรุงรักษารถ ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลรับผิดชอบ” นพ.สุภัทร ระบุ

1

นพ.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม บริการดังกล่าวเป็นบริการเบื้องต้นที่โรงพยาบาลจะต้องพึ่งตัวเองไปก่อน ขณะเดียวกันก็ยังจะต้องศึกษาเรื่องระเบียบของที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่มีอยู่หลายข้อ เพื่อการจัดบริการนี้สอดคล้องกับระเบียบที่ควรจะเป็นมากที่สุด เช่น จะต้องดูว่าการเก็บค่าบริการรถรับส่งจากผู้ป่วยนั้นผิดระเบียบหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายปกติที่เก็บ เช่น ค่ายา ฯลฯ รวมถึงเมื่อเก็บมาแล้วจะต้องเข้าบัญชีใด เป็นบัญชีเงินบำรุงหรือไม่ เป็นอาทิ ฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่จะต้องไปทำการบ้านต่อไป เพราะมีการตีความที่หลากหลาย

ทว่า หากทดลองไปแล้วพบว่าอาจเกิดการติดขัดกับระเบียบในบางข้อก็อาจจะแก้ได้ 2 กรณีคือ แก้ระเบียบ หรือดูช่องทางที่จะสามารถใช้ได้โดยไม่ผิดระเบียบ หรือหากผิดระเบียบก็ไม่ใช่เป็นไปในทางการทุจริต เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งคำว่าระเบียบใช้เพื่อป้องกันการทุจริต ไม่ใช่การปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาให้ประชาชน 

“จริงๆ ระบบการช่วยเหลือเรื่องการรับส่งต่อนั้น มีอยู่ในระเบียบกองทุนตำบลจาก สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งเป็นเงินที่ท้องถิ่นสามารถจัดรถรับส่งต่อได้ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงในระยะยาวหากมีการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขไปให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งก็เป็นภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. สามารถทำได้ ในการวางรถรับส่งผู้ป่วยไปเรื่อยๆ และแวะส่งตามเส้นทาง” นพ.สุภัทร ระบุ 

นพ.สุภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า อ.สะบ้าย้อย อยู่ห่าง อ.หาดใหญ่ และ อ.เมืองสงขลาถึง 100 กม. ทำให้ผู้ป่วยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงแพทย์เฉพาะทาง ผู้ป่วยบางรายต้องเหมารถ หรือผู้ป่วยบางรายแม้จะมีรถฉุกเฉินบริการแต่ก็ไม่ยอมไป ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นบริบทที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลสะบ้าย้อยก็ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการแก้ปัญหาอยู่หลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องรถรับส่งที่คิดว่าสามารถทำได้ รวมถึงได้มีการพูดคุยกับโรงพยาบาลสงขลา ในการจัดระบบการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสะบ้าย้อย สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ได้ 

“สิ่งที่ทำไปแล้วคือโรงพยาบาลนาทวี ที่เป็นโรงพยาบาลข้างเคียงกับโรงพยาบาลสะบ้าย้อยก็ได้มีการส่งแพทย์เฉพาะทางเข้ามาตรวจเดือนละ 1 ครั้ง เราก็จะมีหมอสูตินรี หมอกระดูก หรือหมอที่ทำกายภาพบำบัด ฯลฯ ทำให้คนไข้มีโอกาสมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทาง ซึ่งเราทำหลายอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้สามารถเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้ใกล้เคียงกับคนอำเภออื่นๆ ที่อยู่ใกล้เมือง” นพ.สุภัทร ระบุ