ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมแพทย์ชนบทเห็นด้วยนโยบาย 'หมอชลน่าน' เชื่อเป็นยุคการทำงานที่สมานฉันท์กับ สธ.  หนุนทุกนโยบาย 'กัญชาเพื่อการแพทย์-ยกระดับบัตรทอง-เศรษฐกิจสุขภาพ' เชื่อนโยบาย สธ. ยุคใหม่แก้ปัญหาระบบบริการสุขภาพได้ทั้งประเทศ


นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย และประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงนโยบายสาธารณสุข ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ได้ชี้แจงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ว่าเห็นด้วยกับนโยบายที่จะยกระดับระบบสุขภาพของไทยให้ดียิ่งขึ้น และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับ สธ. โดยมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ นพ.ชลน่าน ต้องการให้เป็นยุคแห่งการสมานฉันท์กัน เพราะทางชมรมแพทย์ชนบทเองก็ไม่อยากรับกับรัฐมนตรีคนไหน รวมถึงที่ผ่านมาก็มีความขัดแย้งระหว่างชมรมฯ กับ สธ. ในหลายประเด็น

ทั้งนี้ ในตัวนโยบายของ นพ.ชลน่าน นั้นค่อนข้างมีความชัดเจนในหลายเรื่อง และมีแนวทางที่เชื่อมกันทั้งระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ซึ่งมองว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและรอการยกระดับแบบนี้มานานแล้ว เนื่องจากเดิมนโยบายการพัฒนาระบบสาธารณสุข จะมีลักษณะเป็นส่วนๆ ไม่เป็นระบบ เช่น นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เป็นอาทิ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยจะสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้นจากสิทธิบัตรทอง และไม่ต้องกังวลเรื่องของค่าใช้จ่าย แต่สิ่งที่พบคือ คุณภาพของการให้บริการยังไม่ดีพอ อีกทั้งยังมีความแออัดสูงในหลายโรงพยาบาล แต่เรามีความหวังว่าจะแก้ไขได้ผ่านการยกระดับบัตรทอง ที่จะเชื่อมมาสู่การแก้ปัญหาโครงสร้างทั้งระบบ 

ส่วนในประเด็น 50 เขต 50 โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น เห็นด้วยว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เพราะโรงพยาบาลในสังกัด สธ. มีไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร รวมถึงเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา คน กทม. ก็เข้าถึงหน่วยบริการได้ยาก ซึ่งการทำให้มีหน่วยบริการครบทั้ง 50 เขตก็จะช่วยให้ประชาชนแต่ละพื้นที่เข้าถึงได้ง่ายมากขี้น 

นอกจากนี้ ยังตรงกับแนวนโยบายของการพัฒนาโรงพยายาบาลชุมชนแม่ขาย หรือสาธารณสุขชายแดนพื้นที่เฉพาะ ที่จะเป็นการพัฒนาหน่วยบริการเพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยที่จะเข้าสู่โรงพยาบาลจังหวัด อีกทั้งเป็นการเพิ่มคุณภาพบริการในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้นด้วย 

รวมถึงสอดคล้องกับแนวคิดของชมรมแพทย์ชนบท ที่ต้องการให้เกิดเครือข่ายและการเชื่อมโยงระหว่างแพทย์และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้นำทีมในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิได้จริง หรือเป็นแพทย์ประจำครอบครัว 

"ไม่ใช่แบบทีม 3 หมอเหมือนที่ผ่านมา ที่หมอคนที่ 3 ซึ่งหมายถึงแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชน ก็มีชื่ออยู่แค่ในระบบเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการเชื่อมโยง หรือระบบจัดการใดๆ ให้แพทย์ไปถึงท้องถิ่นในชุมชนอย่างแท้จริง" ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุ

นพ.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า เรื่องกัญชาทางการแพทย์ ที่ นพ.ชลน่าน จะมุ่งไปทางนี้เป็นหลัก ก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์ทุกคนเห็นด้วยในการใช้เพื่อการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น และชมรมแพทย์ชนบทเองก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการที่เปิดกว้างโดยไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน และปัจจุบันกฎหมายกัญชายังมีช่องโหว่อยู่ 

สำหรับเศรษฐกิจสุขภาพที่เป็นนโยบายหารายได้เข้าประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) มองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการบริการทางการแพทย์ของไทยเป็นจุดแข็ง และเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ทั้งความเชี่ยวชาญของบุคลากร และการให้บริการดูแลที่เป็นเลิศ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาจุดสมดุลในเรื่องนี้ให้ได้ เพราะถ้าให้น้ำหนักไปกับการสนับสนุนด้านนี้มากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดปัญหาบุคลากรสมองไหล และส่งผลกระทบต่อการให้บริการกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ 

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า นโยบายภาพรวมหากทำได้ในระยะเวลา 4 ปี หรือวางรากฐานให้แน่นก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว แต่การทำนโยบายลักษณะนี้ต้องการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และต้องทำงานข้ามกระทรวงด้วย แต่ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และชมรมแพทย์ชนบทก็พร้อมจะทำงานด้วย 

“แต่ชมรมแพทย์ชนบท ก็ยังคงความป็นเอกลักษณ์ และยืนยันว่าจะตรวจสอบ ทำหน้าที่อย่างที่เราเป็นต่อไป พร้อมกับสะท้อนความเห็นให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงได้รับทราบ ซึ่งหมอชลน่าน ก็มีบุคลิกที่รับฟังอยู่แล้ว ก็น่าจะเป็นการทำงานร่วมกันที่ดีในยุคหนึ่งของสธ."  ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวตอนท้าย