ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กำลังสร้างปัญหาใหม่ให้แก่ระบบสาธารณสุขไทย

โควิด-19 ที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายและติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ตั้งแต่ต้นปีมายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นเป็นหลักหมื่นทุกวัน ซึ่งการรักษาในขณะนี้ คือการรับประทานยาตามอาการ

จากการเปิดเผยของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ระบุว่า จากความต้องการยาที่มากขึ้น ทำให้ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องเจอปัญหาเรื่อง “การสั่งซื้อยา” เพราะโรงงานผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ

แม้จะเป็นยาสามัญอย่าง พาราเซตามอล ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ แต่เมื่อโรงพยาบาลสั่งยาไปแล้ว โรงงานกลับไม่มียาส่ง ซึ่งเพจ “ชมรมแพทย์ชนบท” ระบุว่า เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ผ่านมา

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ได้รับแจ้งจากเภสัชกรว่าช่วงนี้สั่งยาไปแล้วโรงงานไม่รับออร์เดอร์ โดยเฉพาะกลุ่มยาหลักที่โรงพยาบาลใช้ เนื่องจากโรงงานยังจัดส่งยาออร์เดอร์เก่าๆ ไม่ทัน จึงไม่อยากให้คำสั่งซื้อใหม่ต้องรอคิวยาว

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้การผลิตยาล่าช้า เป็นเพราะผู้ป่วยโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และพนักงานของโรงงานผลิตยาติดโควิด ทำให้ฝ่ายผลิตยาเกิดการชะงัก ส่งผลให้กำลังผลิตน้อยกว่าความต้องการ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ขณะนี้ไม่ถือว่าเป็นวิกฤต เพราะส่วนใหญ่เป็นยาพื้นฐาน คิดว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งน่าจะแก้ปัญหาคล้ายๆ กัน คือลดปริมาณการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยลงในระยะหนึ่ง

นพ.สุภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เข้ามาจัดการเรื่องนี้เพราะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบโดยตรงที่ต้องจัดหาโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือจะนำเข้าฉุกเฉินก็สามารถแก้ปัญหาได้ทันที เมื่อสถานการณ์การขาดแคลนลดลง กำลังผลิตของประเทศมันก็จะค่อย ๆ กลับมา