ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือได้ว่าการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สู่อ้อมอกขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของปีงบประมาณ 2566 มีอายุครบ 1 ขวบปีเต็ม 

ศ.ดร.อุดม ทุมโฆสิต หัวหน้าคณะวิจัยโครงการวิจัยประเมินผลนโยบายการถ่ายโอน รพ.สต. ไปสู่ อบจ. จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้รวบรวมประเด็นจากงานวิจัย

สรุปผ่านงานอบรมสัมมนาวิชาการ เรื่อง “หนึ่งปีกับการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ.” เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ บทถนนแจ้งวัฒนะ ท่ามกลางนายก อบจ. ราว 66 จังหวัด รวมถึงเจ้าหน้าที่ ตัวแทนจาก รพ.สต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกือบ 500 คน 

ศ.ดร.อุดม อธิบายว่า การวิจัยจะเป็นการประเมินผลการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2566 ทั้งเรื่องความก้าวหน้าในการดำเนินการของ อบจ. ที่รับโอน รพ.สต. ตามเกณฑ์ของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เปรียบเทียบสถานะองค์รวมในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิระหว่างก่อนและหลังโอนภารกิจ รวมถึงมีการเปรียบเทียบ 7 องค์ประกอบสำคัญ (7 Building Blocks) ของระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อรวบรวมสิ่งที่สำคัญให้นำไปสู่การแก้ไข 

สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพจะเป็นการสำรวจตัวอย่าง รพ.สต. 32 แห่ง จาก 8 จังหวัด เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ ตีความ ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณนั้นจะเป็นการนำผลวิจัยจากขั้นแรก มาถอดประเด็นสำคัญ และยืนยันผล โดยได้ข้อมูลจาก อบจ. และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั้งหมด 35 จังหวัด จาก 49 จังหวัด และ รพ.สต. 450 แห่ง จาก 3,263 แห่ง โดยใช้ระยะเวลาการศึกษาอยู่ราว 6 เดือน 

4

“งานชิ้นนี้เป็นงานที่นิด้า มีความตั้งใจที่จะใช้ความสามารถทางวิชาการช่วยสนับสนุนการถ่ายโอน รพ.สต. ไม่เพียงแค่นั้น แต่อยากมีส่วนที่จะช่วยพัฒนา รพ.สต. ให้เข้มแข็งก้าวหน้าต่อไปในอนาคต” 

ศ.ดร.อุดม ระบุว่า สำหรับผลการประเมินความก้าวหน้าในการดำเนินการของ อบจ. ทั้ง 8 จังหวัด หลังจากรับการถ่ายถ่ายโอนไปนั้น เกิดความก้าวหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) และกองสาธารณสุขใน อบจ. โดยดำเนินการแล้ว 81.25% อยู่ระหว่างการดำเนินการ 18.75% 

ส่วนเรื่องความก้าวหน้าด้านบุคคล งบประมาณ การบริหารกิจการสาธารณสุขมูลฐาน และการจัดการสุขภาพปฐมภูมินั้น ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะเหลือส่วนของการกำกับ ติดตามประเมินผลที่ยังสามารถใช้เกณฑ์เดิมจากกระทรวงสาธารณสุข รพ.สต. ติดตาวไปก่อนได้ แต่ก็คาดหวังว่าเมื่อถ่ายโอน อบจ. ควรจะมีเกณฑ์ในการติดตาม 

สำหรับเรื่องความก้าวหน้าของบุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอนมายัง อบจ. นั้น ผลการดำเนินการจาก อบจ. 35 จังหวัด พบว่า ดำเนินการแล้ว 94.29% อยู่ในระหว่างการดำเนินการ 5.71% ส่วนเรื่องของการสรรหาบุคลากรให้ รพ.สต. ที่รับโอนที่ยังมีอัตราว่างอยู่นั้น ดำเนินการแล้ว 11.43% อยู่ในระหว่างการดำเนินการ 71.43% และยังไม่ได้ดำเนินการ 17.14% 

ขณะที่ความก้าวหน้าของการดำเนินการจาก อบจ. ให้ รพ.สต. ได้รับเงินอุดหนุน S M L นั้นดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 94.29% อยู่ในระหว่างการดำเนินการ 5.71% 

นอกจากนี้ การประเมินผลองค์รวมของระบบสุขภาพปฐมภูมิของ รพ.สต. ทั้งก่อนและหลังการถ่ายโอนการประเมินรูปแบบจังหวัดยังคงเหมือนเดิม สอดคล้องกับมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก (WHO)  ทว่าก็ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีก

อย่างไรก็ดี ในการประเมินผล 7 องค์ประกอบ พบว่าในด้านบริการสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งก่อนและหลังยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและป้องกันต่ำเกินไป ขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความเจ็บป่วยในระดับปฐมภูมิ เช่นเดียวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 

ขณะที่ด้านกำลังคน ยังมีการขาดแคลนบุคลากรทุกประเภท และยังขาดการพัฒนาทักษะความสามารถของกำลังคนที่มีอยู่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

“เมื่อเป็นโรงพยาบาลแล้ว ขีดความสามารถในการรักษาเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำ” 

รวมไปถึงขวัญกำลังใจทั้งก่อนและหลังการถ่ายโอนยังค่อนข้างต่ำ ส่วนเรื่องระบบข้อมูล สารสนเทศยังพบว่าระบบอินเทอร์เน็ตใน รพ.สต. บางแห่งยังไม่เสถียร จึงได้มีข้อเสนอให้ อบจ. ช่วยเข้ามาแก้ไขให้มีความเสถียรมากขึ้น รวมถึงยังไม่มีบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์ในการดูแลรับผิดชอบ เป็นต้น 

มากไปกว่านั้น ในด้านงานเภสัชกร ส่วนของหลังการถ่ายโอน รพ.สต. บางแห่งระบบการจัดการยายังไม่ลงตัว และยังยังมียาไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมองว่าควรจะต้องคุยกับโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อทำความเข้าใจและตกลงกัน 

5

ศ.ดร.อุดม อธิบายต่อไปว่า ในส่วนของความมั่นคงทางการเงิน ยังขาดระบบการเงินที่มั่นคงเพียงพอต่อความจำเป็นในการให้บริการทั้งรายรับและรายจ่าย เช่นเดียวกับการการส่งเสริมป้องกันที่ยังมีรายจ่ายอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าที่ของ รพ.สต. ที่ต้องเน้นบริการเชิงรุก

เมื่อมองถึงประเภทรายจ่ายของ รพ.สต. ที่ได้ศึกษา 435 แห่ง ในปีงบประมาณ 2565 ทั้งขนาด S M L พบว่า รพ.สต. ส่วนมากมีรายได้เฉลี่ยแห่งละ 924,062 บาท ขณะที่รายจ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่แห่งละประมาณ 1,265,436 บาท 

อย่างไรก็ดี ส่วนของการจัดสรรงบประมาณที่แตกต่างตาม CUP ของแต่ละที่ยังมี รพ.สต. บางแห่งรู้สึกไม่พอใจ ส่วนตัวได้มีการพูดคุยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) ซึ่งก็ได้มีการระบุถึงความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานกลาง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดี 

หากลงลึกไปในรายละเอียด เปรียบเทียบประเภทแหล่งรายได้ของ รพ.สต. ที่ศึกษา 435 แห่ง ระหว่างปีงบประมาณ 2565 และ 2566 พบว่า จำนวนรายได้ก่อนการถ่ายโอนที่ได้รับ ทั้งรายได้จากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว (OP/PP) รายได้จากเงินอุดหนุนตามขนาด S M L รายได้จากเงินอุดหนุนของ อบจ. ฯลฯ ในปีงบประมาณ 2565 นั้นจะอยู่ที่ 924,062 บาท ขณะที่หลังการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2566 จะอยู่ที่ 1,625,174 เพิ่มขึ้น 701,112 บาท

ศ.ดร.อุดม ระบุว่า ในส่วนของการอภิบาลระบบสุขภาพปฐมภูมิ เครือข่ายพหุภาคีที่มียังอยู่แบบหลวมๆ ซึ่งถ้าหากเป็นเกณฑ์จากองค์การอนามัยโลกที่ระบุถึงการบูรณาการการทำงานทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด และชาติ ฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่จะต้องติดต่อไปว่าจะมีการบูรณากันอย่างไรในการทำงานเป็นเครือข่ายโดยมีเป้าหมายใหญ่คือ “ประชาชนได้รับบริการ” 

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ทำวิจัย มีโอกาสได้คุยกับประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัด ซึ่งก็พบว่าส่วนมากมีทัศนคติที่ดีต่อ รพ.สต. ฉะนั้นความท้าทายคือเมื่อมีพื้นฐานดี ในส่วนการปฏิบัติจะต้องทำอย่างไรให้ตอบสนอง ส่วนนี้จึงเป็นสิ่งที่ ทั้ง อบจ. และ รพ.สต. จะต้องร่วมกันคิดต่อไป 

“รพ.สต. ถูกกำหนดมาให้ทำงานเชิงรุก แต่ทุกวันนี้ ด้วยเหตุผลความจำเป็นยังต้องทำงานเชิงรับ คือการรักษาพยาบาล ฉะนั้นต้องรีบทำให้ รพ.สต. เข้มแข็งขึ้นมา และทำงานเชิงรุกได้ เพื่อให้ประชาชนตื่นตัว และตระหนักในการดูแลสุขภาพของตัวเอง” ศ.ดร.อุดม ระบุ