ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จัดหาวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1.9 ล้านเข็ม พร้อมสนับสนุนงบประมาณค่าฉีด ครอบคลุมนโยบายรัฐบาล หนุนคนไทยไปฉีด ไปตรวจ ชี้หากเจอเร็วมีโอกาสรอดสูง 


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยภายหลังร่วมกิจกรรม การรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้กับกลุ่มเป้าหมายเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ป.5)  – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ของโรงเรียนไทรน้อย จำนวนประมาณ 700 คน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ว่า โครงการดังกล่าวนับเป็นการเริ่มต้นนโยบายมะเร็งครบวงจร และยังเป็นนโยบาย Quick Win 100 วันแรกของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งตั้งเป้าฉีดวัคซีน HPV ให้กับเด็กนักเรียน/นักศึกษาหญิงทั่วประเทศ ที่มีอายุระหว่าง 11-20 ปี รวม 1 ล้านเข็มในระยะเวลา 100 วัน 

ทั้งนี้ สปสช. เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยสนับสนุนงบประมาณจัดหาวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเตรียมฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามโครงการนี้ จำนวน 1.9 ล้านเข็ม โดยเป็นวัคซีนที่ สปสช. ได้จัดหาเอาไว้บางส่วนอยู่แล้วประมาณ 4 แสนเข็ม และยังมีวัคซีนที่ภาคเอกชนมอบให้กับ สธ. เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนอีกจำนวนประมาณ 8 แสนเข็ม ขณะเดียวกัน ในเดือน ธ.ค. 2566 จะมีวัคซีนที่จัดหาเพิ่มเติมเข้ามาอีกประมาณ 7 แสนเข็ม ซึ่งรวมแล้วเพียงพอต่อการขับเคลื่อนโครงการตามเป้าหมายได้แน่นอน และยังสามารถเก็บตกกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นด้วย 

1

ขณะเดียวกัน สปสช. ยังได้จัดงบประมาณสำหรับเป็นค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับหน่วยบริการสุขภาพ และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไปแล้วตามจำนวนกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ขณะนี้ทั่วประเทศสามารถเดินหน้า และเริ่มฉีดวัคซีน HPV ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้ทันที 

“ตอนนี้เรามีประมาณ 1.2 ล้านเข็มที่แจกจ่ายไปแล้วตามแต่ละพื้นที่ และเดือน ธ.ค.นี้จะทยอยมาอีก 7 แสนเข็ม ซึ่งเพียงพอตามกลุ่มเป้าหมายคือเพศหญิงอายุระหว่าง 11-20 ปีทั่วประเทศ” นพ.จเด็จ กล่าว 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มอายุอื่นๆ ที่ต้องการฉีดวัคซีน HPV ด้วยนั้น ก็อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร แต่ทั้งนี้ ช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดคือเพศหญิงที่อายุ 11 ปี ซึ่งเมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะมีประสิทธิภาพการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดีกว่า 

4

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก ก็เคยแนะนำว่า วัคซีน HPV สามารถฉีดให้กับผู้หญิงได้ถึงอายุ 25 ปี แต่ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยจะต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ก่อนจะทำเป็นชุดสิทธิประโยชน์ หรือนโยบายต่างๆ 

“กลุ่มอายุอื่นที่เลยวัยฉีดวัคซีน HPV ไปแล้ว ก็ยังสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองได้ง่ายๆ เช่นกัน สามารถไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยตรวจสอบได้ง่ายๆที่ แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค หรือโทร.สอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้ นอกจากนั้นยังสามารถรับชุดตรวจได้ที่หน่วยบริการของรัฐ หรือโรงพยาบาลของรัฐได้ ซึ่งก็ช่วยให้ประเมินอาการ และคัดกรองได้ หากพบว่ามีความเสี่ยง หรือป่วยแล้วจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็ว และมีโอกาสรอดชีวิต” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

5

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการฉีดวัคซีน HPV นี้ไปแล้ว ในปี 2567 สปสช. ยังเตรียมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ เพศหญิงอายุ 11 ปี ที่ต้องฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกเข็มแรกทุกคน ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปสช.ดูแลให้อยู่ โดยคาดว่าจะต้องมีเด็กหญิงอายุ 11 ปีได้รับวัคซีนทุกปีๆ ละประมาณ 4 แสนโดส 

“เด็กที่อายุ 10 ขวบในปีนี้ ปีหน้าก็ต้องมารับวัคซีน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายและอยุ่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว แต่หากจะขยายไปสู่กลุ่มอายุอื่น ก็อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลอีกที แต่สปสช. พร้อมจัดเตรียมและจัดหาวัคซีนรองรับ รวมถึงค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับหน่วยบริ่การด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าวย้ำ 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอีกชนิดที่เราต้องการเอาชนะให้ได้ เพราะขณะนี้มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เริ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงที่มีอายุ 11 ปีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงป่วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคต ซึ่งเมื่อมีตัวแปรใหม่อย่างเช่น วัคซีน HPV ที่ทำให้จัดการกับโรคได้ สปสช. ก็พร้อมจะนำมาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน 

4

อีกทั้ง สปสช. และภาคีเครือข่ายได้ศึกษาความคุ้มค่ามาแล้ว ซึ่งพบว่าหากได้รับวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เด็ก จะช่วยให้ลดความเสี่ยงเป็นมะเร็ง และยังลดค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษามะเร็งหากป่วยในอนาคต 

นพ.จเด็จ ยังกล่าวถึงการสนับสนุนโครงการมะเร็งครบวงจรของรัฐบาลด้วยว่า สปสช. พร้อมไปหนุนเสริมในทุกมิติสำหรับการจัดการโรคมะเร็ง ทั้งก่อนป่วย ที่จะมีการตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีพิเศษ ที่ทำได้ง่าย ประชาชนสามารถตรวจและเก็บสิ่งส่งตรวจได้เองอย่างสะดวก เพื่อให้สามารถรู้ความเสี่ยงมะเร็งได้ หากพบก่อนก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นด้วย

“รวมไปถึงระหว่างป่วยก็จะมีชุดสิทธิประโยชน์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเมื่อเข้าสู่ระยะท้าย ที่ต้องยอมรับกับสถานการณ์ของโรค ซึ่งอาจต้องได้รับการดูแลประคับประคองที่บ้าน สปสช. ก็มีสิทธิประโยชน์ที่ดูแลอย่างเป็นระบบเช่นกัน” นพ.จเด็จ กล่าว