ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์นักวิจัย IHRI ระบุ แม้คนไทยทุกคนจะมีสิทธิรับยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อการป้องกันและรักษาฟรี แต่ในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรค บางโรงพยาบาลจำกัดวัน-เวลาให้บริการ แนะ ควรยกเว้นให้คลินิกชุมชนสำรองยาควบคุมพิเศษได้ภายใต้ความร่วมมือและสั่งจ่ายโดยแพทย์


นพ.จักรภัทร บุญเรือง แพทย์เชี่ยวชาญด้านเพศสภาวะและนักวิจัยจากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า บริการด้านการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังเป็นการรอให้ผู้ที่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและผู้ที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อแล้วเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลเอง แม้รัฐจะให้สิทธิการเข้าถึงยาแต่ในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรค เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐบางแห่งเปิดให้บริการด้านเอชไอวีแค่หนึ่งวันต่อสัปดาห์ ทำให้ผู้ที่ต้องการรับยาเพื่อป้องกันหรือรักษาบางรายไม่สามารถเข้ามารับยาในเวลาที่กำหนดได้ จึงไม่ได้รับยาได้ในทันที 

นอกจากนี้ ยังพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งไม่มียาเพียงพอสำหรับการให้บริการ ทำให้ต้องปรับลดจำนวนยาที่จ่ายให้ผู้รับบริการ และปรับลดวันนัดให้เร็วกว่าเดิม เช่น จากเดิมต้องจ่ายยาและนัดทุก 6 เดือน ก็อาจปรับลดเหลือเพียงจ่ายได้สำหรับ 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งเพิ่มความไม่สะดวกทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

อย่างไรก็ดี แม้จะมีหน่วยบริการขององค์กรภาคประสังคมที่ให้บริการตรวจเอชไอวีได้ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่น คลินิกฟ้าสีรุ้ง คลินิกสวิงสะพานควาย (SWING) ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) คลินิกเอ็มพลัส และคลินิกแคร์แมท ในเชียงใหม่ ฯลฯ ที่เข้ามาหนุนเสริมบริการหน่วยบริการภาครัฐ และทำได้ดีทั้งในเรื่องของการเข้าถึงประชาชนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีในชุมชน ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการให้บริการทางเพศ (Sex Workers) ให้ได้รับข้อมูลด้านเอชไอวีที่ถูกต้องและครบรอบด้านจนตัดสินใจเข้ารับการตรวจเอชไอวี รวมถึงยังสามารถเข้าถึงยาป้องกันไวรัส (PrEP) หรือ ถ้าตรวจพบว่าผลเลือดเป็นบวกก็สามารถรับยาต้านไวรัสเพื่อเริ่มการักษาได้ภายในวันเดียวกับที่ตรวจนั้นเลย จนทำให้จำนวนผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อและเริ่มการรักษาของประเทศสูงขึ้น โดย 80% ของผู้ที่รับบริการ PrEP ทั้งหมดของประเทศมาจากการตรวจและเริ่มการรักษาที่คลินิกชุมชน หรือหน่วยบริการขององค์กรภาคประสังคม

4

อย่างไรก็ตาม หน่วยบริการขององค์กรภาคประสังคมเหล่านั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องการเก็บและจ่ายยาต้านไวรัส เพราะแม้จะสามารถตรวจหรือบอกผลเลือดได้โดยมีแพทย์ของโรงพยาบาลร่วมให้บริการผ่านระบบ Telemedicine เพื่อสั่งจ่ายยาให้ แต่ก็ยังไม่สามารถเก็บยาเพื่อสำรองจ่ายให้กับผู้รับบริการได้ ส่งผลให้ผู้รับบริการต้องไปมาหลายครั้งเพื่อรับยา อีกทั้งในกรณีการรับยาเพื่อรักษาที่หน่วยบริการขององค์กรภาคประสังคมก็สามารถสั่งจ่ายยาได้เพียงสำหรับ 1 เดือน จึงทำให้ผู้รับบริการก็ยังต้องเข้ารับยาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล เนื่องจากหน่วยบริการข้างต้นไม่ใช่คลินิกเวชกรรม 

ดังนั้น ประเด็นที่ต้องการการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดข้อติดขัดดังกล่าว คือการรับรอง หรือมีข้อยกเว้นพิเศษให้หน่วยบริการขององค์กรภาคประสังคมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยร่วมบริการด้านเอชไอวีในชุมชนภายใต้ สปสช. สามารถสำรองยาต้านไวรัสได้ เพราะไม่ใช่องค์กรภาคประชาสังคมทุกแห่งจะมีกำลัง หรือมีแรงสนับสนุนจัดตั้งเป็นคลินิกเวชกรรมได้ เนื่องจากการจะขึ้นทะเบียนเป็นคลินิกเวชกรรมจำเป็นต้องมีแพทย์มาปฏิบัติงานประจำ ฉะนั้นจึงต้องอาศัยการสนับสนุนและผลักดันจาก สธ. เพื่อให้หน่วยบริการภาคประชาสังคมสามารถดำเนินการด้านเอชไอวีได้โดยถูกกฎหมาย

“ยังมีหน่วยงานภาครัฐอีกหลายจังหวัดไม่เข้าใจและมองว่าหน่วยบริการขององค์กรภาคประชาสังคมไม่ควรสต๊อกยา โดยเฉพาะยาควบคุมพิเศษ แม้จะมีความร่วมมือกับสถานพยาบาลในพื้นที่ มีแพทย์สั่งจ่ายยาให้ และบางแห่งจะขึ้นทะเบียนเป็นคลินิกเทคนิคการแพทย์แล้วก็ตาม ในความเป็นจริงการสต๊อกยานั้นทำได้ง่ายมาก และหน่วยบริการขององค์กรภาคประชาสังคมควรสต๊อกยาได้ แต่ด้วย พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่กำหนดให้หน่วยบริการประเภทเวชกรรมและเภสัชกรรมเท่านั้นที่สามารถเก็บยาได้ รวมทั้ง พ.ร.บ. ยา ที่ยังกำหนดให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นยาควบคุมพิเศษ จึงทำให้หน่วยบริการภาคประชาสังคมที่เป็นจุดที่จะเข้าถึงผู้รับบริการได้ง่ายและรองรับได้เป็นจำนวนมาก ยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างเต็มศักยภาพในบางพื้นที่” นพ.จักรภัทร ระบุ

1

นพ.จักรภัทร กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ทำให้เชื้อดื้อยานั้น แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีผลที่ทำให้เชื้อไวรัสดื้อยา มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกด้วยว่าการใช้สารเคมี หรือสารเสพติดมีผลต่อการทานยาต้านไวรัส ซึ่งฤทธิ์ของสารเคมีหรือสารเสพติดอาจส่งผลให้ลืมรับประทานยาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีผลที่ทำให้ดื้อยา 

ทั้งนี้ หากผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีรับประทานยาเป็นประจำโอกาสที่เชื้อจะดื้อยาเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย แม้จะรับประทานไม่ตรงตามเวลา ซึ่งเทียบไม่ได้กับการหยุดและกลับมารับประทานใหม่ ส่วนกรณีที่ขาดยา หรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอแล้วจะมีโอกาสดื้อยาหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลา หากขาดเกิน 1-2 เดือนขึ้นไป ก็มีโอกาสทำให้เชื้อดื้อยาได้ 

นพ.จักรภัทร กล่าวว่า สูตรยาต้านไวรัสที่ใช้ในขณะนี้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อดื้อยา จึงไม่อยากให้กลัวว่าจะดื้อยา เนื่องจากหลายคนสามารถใช้ยาตัวเดิมในการกดเชื้อได้หากเข้ามาพบแพทย์ โดยแพทย์จะให้ลองรับประทานยาก่อนเพื่อดูว่าสามารถกดเชื้อไวรัสได้ตามเป้าทางการแพทย์หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นก็จะมีการตรวจหาเชื้อดื้อยาอีกครั้ง เพราะเชื้อดื้อยาสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด

“คนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษาสามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ที่หน่วยบริการภายใต้ สปสช. ทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งการขอรับชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองไปตรวจที่บ้าน ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) และการตรวจหาการติดเชื้อที่หน่วยบริการโดยตรง 2 ครั้งต่อปี เมื่อตรวจไม่พบเชื้อสามารถขอรับยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือ PrEP ได้ฟรีเช่นกัน ส่วนในกรณีที่รับเชื้อแล้ว สิทธิก็ยังครอบคลุมในการรักษาและตรวจปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือด หรือ Viral Load ได้ปีละ 2 ครั้งเช่นกัน” นพ.จักรภัทร ระบุ