ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหา “บุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน” ดูจะไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ หลังแต่ละฝ่าย ทั้ง “กระทรวงสาธารณสุข” (สธ.) ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงที่จะให้ถ่ายโอน และ “คณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผู้มีอำนาจในการให้ถ่ายโอน ต่างยืนยันถึงคำสั่ง และแนวทางปฏิบัติของตน

ทำให้ บุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน จำนวน 222 คน แบ่งเป็น ปีงบฯ 2567 จำนวน 138 คน และที่ถ่ายโอนไปปีในงบฯ 2566 อีก 84 คน ต่างสับสนอลหม่านไม่รู้จะวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองไว้ตรงไหน เช่นที่ นายธนโชติ ดวงตะวัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองคู (รพ.สต.) จ.ศรีสะเกษ บอกกับ “The Coverage” ว่า ตอนนี้หนังสือออกมาเยอะมากแล้วค้านกันเอง พูดง่ายๆ ส่วนกลางไม่คุยกันแล้วมาทำให้น้องๆ เสียกำลังใจ ทำตัวไม่ถูก

เพราะตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2566 สตาร์ทถ่ายโอนปีงบฯ 2567 เขาเหล่านี้จำนวนไม่น้อยได้ไปรายงานตัวกับ “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” (อบจ.) และปฏิบัติหน้าที่เรียบร้อยแล้วด้วย โดยเป็นไปตามแนวทางของมติคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ 

ทว่า ตลอดตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ทาง สธ. ก็ยังยืนยันในระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานตน คือ การจะถ่ายโอนบุคลากรกลุ่มดังกล่าวได้ ต้องให้ “ปลัด สธ.” ในฐานะผู้บังคับบัญชาป็นผู้รับรอง และต้องผ่านความเห็นชอบจาก “อ.ก.พ.สธ.” ก่อนเท่านั้น 

รวมถึงได้แจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่ง สสจ. บางแห่งก็ได้มีคำสั่งเรียกบุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงานให้กลับมา “ปฏิบัติงานที่หน่วยงานสังกัดเดิม” จนกว่าจะมีคำสั่งหรือข้อสั่งการใหม่ หากฝ่าฝืนจะถือว่า “ขาดราชการ”

ก่อนที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “รองนายกฯ สมศักดิ์ สมศักดิ์ เทพสุทิน ในฐานะประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ต้องนัดหารือนอกรอบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก่อนที่จะลงเอยด้วยการ “เคลียร์ไม่จบ” และทาง “รองนายกฯ สมศักดิ์” ได้บอกไว้ว่า “เรื่อง อ.ก.พ.สธ. ที่ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน เดี๋ยวจะไปคุยกับหมอชลน่านให้”

อย่างไรก็ตาม คล้อยหลังจากนั้นไม่นานนัก สธ. ก็ส่งสัญญาณชัดเจนในการประชุมชี้แจงขับเคลื่อนการดำเนินงานสำคัญของ สธ. ให้กับ สสจ. โดยมีการสรุปข้อมูลบุคลากรที่ยื่นความประสงค์ถ่ายโอน ปีงบประมาณ 2567 โดยในส่วนบุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน ได้ระบุว่า ให้ปฏิบัติหน้าที่เดิมต่อไป เนื่องจากไม่อยู่ในภารกิจปฐมภูมิ จึงไม่สามารถถ่ายโอนฯ ได้ อีกทั้ง อ.ก.พ.สธ. มีมติ “ไม่เห็นชอบ” โดยพิจารณาตามความเห็นของผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

ทำให้ในสัปดาห์เดียวกัน บุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน ใน จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด และจ.อุบลราชธานี ถึงกับต้องรวมตัว เดินหน้ายื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านไปยัง “คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น” วุฒิสภา ที่ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาดูงาน 

อย่างไรก็ดี ยังไม่ทันได้มีเสียงตอบรับจากผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา บุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน จาก จ.ศรีสะเกษ ก็ต้องเจอกับคำสั่งของ สสจ.ศรีสะเกษ ที่ยืนยันให้กลับมาปฏิบัติงานที่เดิมก่อน อีกทั้ง นายแพทย์ สสจ.ศรีสะเกษ ยังได้ย้ำว่า ให้รีบกลับมาเร็วที่สุด เพราะกังวลเรื่องการขาดราชการเกิน 15 วัน ที่ถือว่าเป็นการ “ผิดวินัยร้ายแรง” อาจโดนโทษหนักที่สุดคือ “ไล่ออก” ได้

เหตุการณ์ข้างต้นเหมือนยิ่งสุมไฟเข้าไปอีก จนบุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน จาก จ.ศรีสะเกษ จำนวนไม่น้อย เตรียมตบเท้าขอเข้าพบ “นายกฯ เศรษฐา” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ “รองนายกฯ สมศักดิ์” เพื่อหาทางออกร่วมกัน

รวมถึงหากยังไม่มีความชัดเจน จะมีการเดินหน้าต่อไปหา “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และ “อนุทิน” อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย (มท.) ด้วย

ภายใต้สถานการณ์ที่คุกรุ่นนี้ ล่าสุดความเคลื่อนไหวก็ปรากฎขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566 ที่ นายกฯ เศรษฐา นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เหมาโรงดูหนังเรื่อง “สัปเหร่อ” โดยตอนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว หมอชลน่าน กับ รองนายกฯ สมศักดิ์ ได้พบปะกันและมีถ้อยความถึง “บุคลากรถ่ายโอน 5  หน่วยงาน” ออกสื่อสั้นๆ ดังนี้

รองนายกฯ สมศักดิ์ : กระจายอำนาจเนี่ย ให้ท่าน (หมอชลน่าน) โอนพนักงาน (บุคลากร 5 หน่วยงาน) ให้ (อบจ.) ท่านเป็นประธาน อ.ก.พ.กระทรวง (สธ.) ท่านโอนให้ก็จบเลย 

หมอชลน่าน : ไม่จบหรอกครับ เพราะกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข มันเป็นเรื่องของมิติของสุขภาพ เรื่องความเป็นความตาย ฉะนั้นต้องมีความรอบคอบมาก

จากคำพูดข้างต้น สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัด คือที่ “รองนายกฯ สมศักดิ์” นัดหารือนอกรอบกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมบอกว่าจะคุยกับ “หมอชลน่าน” ให้นั้น นับตั้งแต่การหารือดังกล่าวอาจไม่มีการพูดคุยกันเลย และที่สำคัญคือเหมือนจะยัง “ตกลงกันไม่ได้ อีกทั้งไม่แน่ว่าจะสามารถทำให้เรื่องนี้จบได้โดยไม่กระทบบุคลากรถ่ายโอน 5 หน่วยงาน

ที่สุดแล้วจะต้องรอไปอีกนานแค่ไหนอาจไม่มีใครรู้ เพราะตอนนี้ก็ล่วงมาจวนจะครบ 1 เดือน หลังเดินหน้าถ่ายโอนปีงบฯ 2567 แล้ว ซึ่งเป็น 1 เดือนที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่แค่บุคลากรถ่ายโอน แต่คือ “ประชาชน” ด้วย