ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เตรียมเปลี่ยนจ่าย Per visit เบิกได้ใน 3 วัน-ยกระดับ สายด่วน 1330 หนุน ‘บัตร ปชช. รักษาทุกที่’ พร้อมชงบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพฯ 24 ต.ค. นี้


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งแรกวันที่ 24 ต.ค. 2566 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทาง สปสช. ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยหลักๆ จะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ซึ่ง สปสช. จะเข้าไปมีส่วนร่วมในแง่ของการทำให้เกิดความมั่นใจของหน่วยบริการ ผ่านการสนับสนุนทางงบประมาณ โดยเฉพาะนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่

เนื่องจากสิ่งนี้ไม่ใช่แค่การที่ประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียวแล้วไปรับบริการที่ไหนก็ได้ แต่เรียกว่าเป็นการปฏิรูประบบข้อมูลครั้งใหญ่ เพราะเบื้องหลังการจะทำให้นโยบายนี้จะประสบความสำเร็จสมบูรณ์ได้ จะต้องบูรณาการข้อมูลกับแบบไร้รอยต่อ ซึ่งถ้ามีการทำระบบข้อมูลตรงนี้ได้ดี ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้จริง หน่วยบริการให้บริการจริง สปสช. ก็จะเข้าไปเสริมผ่านการจ่ายเงินให้หน่วยบริการเร็วขึ้น จากเดิม 15 วัน อาจจะกลายเป็นทุกวันเลยก็เป็นไปได้ โดยตอนนี้มีการตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 3 วัน

นอกจากนี้ จะมีการยกระดับศักยภาพของสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อไปอุดช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นให้หมด โดยเฉพาะจังหวัดที่จะนำร่อง คล้ายกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะมีการระดมอาสาสมัครมาเต็มที่ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ติดตรงไหนจะประสานจัดการให้ ไม่ว่าจะนัดแพทย์ไม่ได้ หรือจองคิวไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา สปสช. พบว่าเวลามีนโยบายสำคัญ สิ่งที่สำคัญก็คือ การติดต่อสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลในแต่ละสังกัด เช่น ประชาชนไปสอบถามเกี่ยวกับบริการที่สถานพยาบาล แล้วไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

“สปสช. จะมีการเสนอว่าตรงนี้เราคิดว่าเป็นจุดสำคัญ คือ ต้องมีจุดที่พี่น้องประชาชนสามารถสอบถามได้เมื่อเกิดปัญหา ซึ่งในการนำร่องในบางจังหวัดนี้ เชื่อว่าเราน่าจะดูแลได้” นพ.จเด็จ ระบุ

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ส่วนโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ที่ยังไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ สปสช. ก็จะมีกระบวนการไปพูดคุยทำความเข้าใจเหมือนตอนโควิด-19 ว่า สปสช. พร้อมสนับสนุนด้านงบประมาณในการให้บริการแน่นอน ฉะนั้นในตอนนี้สิ่งสำคัญคือโรงพยาบาลในจังหวัดที่นำร่องไม่ว่าจะสังกัดใดต้องคุยกันทั้งจังหวัด ว่ามีความพร้อมไหม ระบบเป็นอย่างไร เรื่องงบประมาณ สปสช. จะดูแลให้อยู่แล้ว

สำหรับการเบิกจ่าย เดิมสถานพยาบาลรัฐกับเอกชน สปสช. มีอัตราจ่ายที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก ยกเว้นกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือ เป็นการให้หน่วยบริการดูปริมาณผู้รับบริการในพื้นที่ และ สปสช. จ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวให้ ถ้าเป็นผู้ป่วยใน (IPD) จะเบิกผ่านระบบ DRGs แต่ภายใต้นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ รายการเบิกจ่ายที่นอกเหนือจาก 2 รายการข้างต้น สปสช. จะเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมดให้เป็น per visit ระบบเดียว หรือก็คือ ทันทีที่หน่วยบริการให้บริการ 1 ครั้ง สปสช. พร้อมจ่ายเงินให้เลย แต่อาจจะแยกเป็นหลายรายการบริการ

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการตกลงกันก่อนล่วงหน้าว่าต่อครั้งจะเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เหมือนโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยา ที่ สปสช. ให้ per visit ละ 180 บาท และหลังจากนั้น สปสช. จะเก็บข้อมูลการให้บริการผ่านระบบนี้มาวิเคราะห์อีกครั้งว่าจำนวนเงินที่ สปสช. จ่ายไปเหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะได้มีการปรับให้สอดคล้องกัน โดยตอนนี้กำลังมีการระดมสมองเพื่อพัฒนา และคิดว่าน่าจะทันรองรับกับการดำเนินการ

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า เหล่านี้จะสอดรับกับระบบยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนในการยืนยันว่ามารับบริการจริง (Authen) ที่ทำมาเรียบร้อยแล้ว หลัง สปสช. เคยเจอปัญหาเรื่องระบบยืนยันตัวตนเดิมที่มีการเอาเลขบัตรประชาชนมาทำข้อมูลเบิกจ่ายเต็มไปหมด และหากสามารถทำระบบให้ตรวจสอบได้เรียลไทม์ ก็จะสามารถป้องกันการช้อปปิ้งบริการไปทั่วได้ ผ่านการกรองที่เรียกว่า Pre-Audit ที่วางระบบไว้แล้วเช่นกัน โดยใช้ AI เป็นผู้ตรวจสอบ

“แน่นอนว่าหน้างานอาจเกิดขรุขระบ้าง จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการนำร่อง แต่ไม่ว่ายังไงต้องให้ประชาชนได้รับบริการก่อน เบื้องหลังระบบเราค่อยมาแก้กัน ซึ่งถ้าทุกคนเข้าใจทิศทางนโยบายแล้ว ผมมองว่านโยบายเป็นไปได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว