ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านพ้นไปแล้วกับการประกาศจังหวัดนำร่อง “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” อย่างเป็นทางการ หลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นัดแรก เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.แพร่ (เขตสุขภาพที่ 1) จ.ร้อยเอ็ด (เขตสุขภาพที่ 7) จ.เพชรบุรี (เขตสุขภาพที่ 5) และ จ.นราธิวาส (เขตสุขภาพที่ 12) 

สำหรับการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะเข้ามาสร้างความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) นอกเหนือจากการไปที่ไหนก็ได้แล้วนั้น ยังเป็นการทลายกำแพงการให้บริการ เพราะในการจะไปที่ไหนก็ของประชาชนไม่ได้จำกัดอยู่แค่โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อีกต่อไป 

“The Coverage” ไม่รอช้าที่จะต่อสายตรงหา นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.) และได้รับเกียรติพูดคุยถึง “ความพร้อม” ต่อการสนองนโยบาย รวมไปถึงความ “ท้าทาย” ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก และในช่วงเปลี่ยนผ่านของการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 

นพ.สุรเดชช บอกว่า จ.ร้อยเอ็ด ประกอบไปด้วยโรงพยาบาลรัฐจำนวน 20 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาลอำเภอ 19 แห่ง รพ.สต. จำนวน 229 แห่ง และโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นอาทิ

ที่สำคัญสถานพยาบาลเหล่านี้ ยังมีการใช้ระบบเชื่อมต่อข้อมูลเป็นระบบเดียวทั้งจังหวัดเรียบร้อยแล้ว และยังเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 7 ที่มีการยืนยันตัวบุคคลผ่านบัตรประชาชนเพื่อใช้ในการเคลมเบิกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มากที่สุดอีกด้วย

“เป็นสิ่งยืนยันว่าจังหวัดร้อยเอ็ดมีความพร้อมเรื่องระบบยืนยันข้อมูลเพื่อใช้ในการเคลมเบิก ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดทำได้ดีในการกระจายข้อมูลของประชาชน คาดว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทำได้ง่ายในระยะเริ่มต้น” นพ.สุรเดชช กล่าว

ทว่า แม้เป้าหมายจะต้องการให้ประชาชนไปที่ไหนก็ได้แบบเต็มรูปแบบ แต่ส่วนสำคัญที่จะต้องทำนั่นก็คือพูดคุยกับ “สถานพยาบาลนอกสังกัด” รวมไปถึง “สถานพยาบาลเอกชน” ที่มีทั้งคลินิกเอกชน แล็บ หรือแม้แต่โรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ แน่นอนว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของฝั่งราชการที่จะต้องเข้าไปสื่อสาร ซักซ้อมทำความเข้าใจ รวมถึงหนุนเสริมระบบเทคโนโลยีทั้งลงโปรแกรมให้ใหม่ หรือพัฒนาต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นอีก 

นพ.สุรเดชช กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการจะเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยกับโรงพยาบาลต่างสังกัดเป็นไปได้ยาก เหตุผลอาจมาจากความต่างของฐานข้อมูล หรือข้อมูลที่จะต้องเป็นความลับ หากในอนาคตสามารถสร้างระบบเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกันได้เป็นระบบกลางของประเทศ หรือเริ่มจากจังหวัดนำร่องนั้น ถือป็นการเริ่มต้นที่ดี และเป็นสิ่งที่น่าติดตาม 

“ตอนนี้เรากำลังจะสร้างระบบเชื่อมข้อมูล ท่อต่อ เพื่อเชื่อมข้อมูลร่วมกัน ถ้าทำได้ 100% ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ก็เกิดประโยชน์ หรือถ้าไม่เต็ม 100% ก็ได้ประโยชน์อยู่ดี เมื่อเทียบกับในอดีตที่เชื่อมไม่ได้เลย” นพ.สุรเดชช ระบุ

นพ.สุรเดชช เล่าอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลก็ได้มอบหมาย สธ. ผ่าน คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉะนั้นต้องดูว่าโรงพยาบาลต่างสังกัดของ สธ. ใช้ระบบข้อมูลใด หากตรงกันก็จะสามารถเชื่อมกันได้ง่าย แต่ถ้าไม่ตรงก็จะต้องวางแผนปรับกันอีกครั้ง ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายทหารฯ แล้ว ซึ่งก็ได้ผลตอบรับไปในทางที่ดีและพร้อมที่จะทำ 

เชื่อว่าการพัฒนาแบบนี้ต้องหาจุดร่วม โดยการเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง 

สำหรับอีกหนึ่งความท้าทายนอกเหนือจากการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามสังกัด นั่นก็คือช่วงรอยต่อระหว่างการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. ที่ในขณะนี้ จ.ร้อยเอ็ด ถ่ายโอนไปแล้วทั้งจังหวัด 229 แห่ง

5

นพ.สุรเดชช ขยายความให้ฟังว่าในช่วงแรกของการถ่ายโอนมี รพ.สต. 13 แห่ง ไม่มีบุคลากร จึงได้ร่วมกับ อบจ.ร้อยเอ็ด ในการเข้าไปเกลี่ยกำลังคนเข้าไปช่วย แต่ก็ยังมี รพ.สต. ราว 27 แห่งที่มีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คน ทำให้เจอปัญหาเรื่องการให้บริการ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนยังต้องเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล โดยระหว่างนั้นก็ได้มีการสนับสนุนงบประมาณในส่วนของผู้ป่วยนอก (OP) เข้าไปสนับสนุน

ฉะนั้น นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของ รพ.สต. ในการสร้างรายได้ รวมไปถึงการเพิ่มกำลังคนด้วยการจ้างบุคลากรเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อให้เกิดแรงจูงใจแก่บุคลากรตลอดจนเกิดการบริการที่ “ยิ่งรักษา ยิ่งมีรายได้” สำหรับการพัฒนาต่อไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน 

“หากมีตรงนี้เสริมเข้ามาก็จะเข้ามาเสริมรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาบุคลากร เพิ่มบุคลากร จัดบุคลากร ประชาชนมาใช้บริการ เกิดวงล้อการพัฒนา” นพ.สุรเดชช กล่าว

ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการใช้โปรแกรมร่วมกับ สสจ.ร้อยเอ็ด อยู่แล้ว ถือว่าเป็นข้อดีอีกหนึ่งข้อที่สามารถเชื่อมโยงระบบได้ง่าย แม้จะมีความเห็นว่าเมื่อถ่ายโอนไปแล้วจะทำให้การขับเคลื่อนยากขึ้นหรือไม่ นพ.สุรเดชช มองว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าจะทำได้ เพราะส่วนหนึ่งที่ทำให้จังหวัดร้อยเอ็ดติดอันดับจังหวัดที่ทำได้ดีเรื่องของการยืนยันตัวตน ส่วนหนึ่งก็มาจากการให้บริการของ รพ.สต. 

อย่างไรก็ดีการนำร่องประชาชนถือบัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้ไม่ได้จำกัดเฉพาะประชาชนชาวร้อยเอ็ดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนจากทั่วประเทศที่เดินทางเข้ามาใน จ.ร้อยเอ็ด ด้วย 

“มันจะดีแค่ไหน สมมติว่ามีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด แล้วมาที่จังหวัดร้อยเอ็ดสามารถเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้เพื่อทำแผลโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน หรือไม่ต้องเอาใบส่งตัว” นายแพทย์ สสจ.ร้อยเอ็ด ระบุ

นพ.สุรเดชช บอกว่า ในทุกปีจะมีของขวัญปีใหม่อยู่แล้ว ไม่แน่ว่านโยบายในส่วนนี้อาจจะเป็นของขวัญให้แก่ประชาชนได้ และคาดหวังว่าจะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั้งหมดมากที่สุด ทั้งประวัติสุขภาพ สมุดสุขภาพ ระบบแพทย์ทางไกล ฯลฯ แต่ก็จะต้องมาดู และชี้แจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอีกครั้ง เพราะคลินิกเอกชนบางแห่งอาจเป็นคลินิกเฉพาะทางที่ไม่ได้รับผู้ป่วยทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมาย คือ อยากให้เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงเมื่อ สปสช. ปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าบริการใหม่ก็คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์และเป็นแรงจูงใจให้คลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชนตัดสินใจเข้าร่วม แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ

ช่วงท้าย นพ.สุรเดชช กล่าวว่า แม้ว่าจะอยู่ในฐานะ สสจ. แต่ที่ผ่านมาเป็นแพทย์ปฐมภูมิ ฉะนั้นจะขอยึดหลักปฐมภูมิที่ว่า “ทำอย่างไรก็ได้ให้เพิ่มการเข้าถึงบริการ” ของประชาชน แม้ที่ผ่านบัตรทอง 30 บาท จะเพิ่มการเข้าถึงบริการได้มากแล้ว แต่ก็ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาได้อีก และถ้าไปถึงขั้นนั้นประชาชนอาจจะไม่ต้องกังวลในการรักษาพยาบาล

“เมื่อก่อนเราเคยบอกว่าประชาชนจะต้องไม่ล้มละลาย แต่ตอนนี้ไม่ล้มลายไม่มีแล้ว มีแต่การพัฒนาในจุดที่มากกว่าการดูแลขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการดูแลที่เมื่อมีความจำเป็น หรือมีความต้องการในรักษา” นพ.สุรเดชช ขยายความ ก่อนจะย้ำอย่างหนักแน่นอีกครั้งว่าอยากทำนโยบายนี้ให้สำเร็จ”