ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“แพทย์ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.พิษณุโลก” โพสต์เฟซบุ๊คบอกเล่าประสบการณ์รักษาผู้ป่วยบัตรทองจากพิษหน่อไม้ปี๊บด้วยยาต้านพิษมูลค่า 2.4 แสนบาท ขณะที่ข้อมูล สปสช. ระบุว่า ตลอด 7 ปี ช่วยชีวิตผู้ป่วยแล้ว 32,098 ราย

นพ.เจษฎา ศรีกุลศศิธร แพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.พิษณุโลก ได้บอกเล่าประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย เพื่อให้เข้าถึงยาต้านพิษมูลค่าขวดละ 240,000 บาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว “Jessada Srikulsaistorn” เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ในโพสต์ที่ชื่อว่า “-ยากำพร้า- ช่วยให้ลูกไม่กำพร้า” โดยมีผู้กดแชร์ไม่ต่ำกว่า 5,200 ครั้ง

ตอนหนึ่งในสาระสำคัญของโพสต์ ระบุว่า มีผู้ป่วยผู้หญิงอายุ 52 ปี เข้ามารักษาพยาบาลด้วยอาการวิงเวียนศีรษะ เห็นภาพซ้อน ลืมตาไม่ขึ้น พูดไม่ชัด กลืนลำบาก สำลัก และหายใจเหนื่อย โดยทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานผัดหน่อไม้ดอง ซึ่งจากการวินิจฉัยพบว่าเข้าข่ายโรคโบทูลิซึม (Botulism) ที่เกิดจากการปนเปื้อนเชื้อคลอสทรีเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum)

นพ.เจษฎา ระบุต่อไปถึงแนวทางการรักษาว่า จำเป็นต้องได้รับยาต้านพิษเพื่อช่วยให้อาการของโรคหายเร็วขึ้น แต่เนื่องจากยามีราคาสูงมากประมาณขวด 240,000 บาท ตนเองจึงไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยจะแบกรับค่าใช้จ่ายไหวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ปรึกษากับศูนย์พิษวิทยาของรามาธิบดี ทำให้ทราบว่ายาที่จำเป็นต้องใช้ชื่อว่าโบทูลินัมแอนตี้ท็อกซิน (Botulinum antitoxin heptavalent) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “ยากำพร้า” ที่รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดให้บริการผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ นั่นทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“หลังโทรปรึกษาเคสกับศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ทางศูนย์เห็นด้วยว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคโบทูลิซึม (Botulism) และมีความจำเป็นต้องได้ยาต้านพิษ ซึ่งยาตัวนี้ในภาพคือ ยาที่สกัดจากน้ำเหลืองของม้าที่ได้รับเชื้อนี้ ชื่อ Botulinum antitoxin heptavalent ราคาเกือบๆ 240,000 บาทต่อขวด ใช้ยา 1 ขวดในการรักษา เดชะบุญที่ยาตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มยากำพร้า-(Orphan drug) หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัย รักษา หรือป้องกันในโรคที่พบไม่บ่อย (Rare disease) และเป็นยาที่อาจจะมีราคาสูง ใช้น้อย ยาในกลุ่มนี้ทางรัฐบาล (สปสช.) จะจัดหามาเพื่อให้แก่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยผ่านทางองค์การเภสัชกรรม” นพ.เจษฎา ระบุ

ทั้งนี้ ข้อมูลการบริการยาและเวชภัณฑ์ ในปีงบประมาณ 2561 พบว่ามีผู้ป่วยเข้าถึง “ยาจำเป็น” ในระบบจำนวน 32,528 ราย โดยแบ่งเป็นยาราคาแพงหรือยาบัญชี จ (2) จำนวน 21 รายการ ครอบคลุมการดูแล 29 กลุ่มโรค

สำหรับยากำพร้าและยาต้านพิษ ปี 2561 มีผู้ป่วยที่เข้าถึงจำนวน 5,312 ราย โดยเข้าถึงเซรุ่มแก้พิษงูกะปะมากที่สุดจำนวน 1,889 ราย รองลงมาคือเซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้จำนวน 1,527 ราย เซรุ่มต้าน พิษงูรวมระบบโลหิตจำนวน 870 ราย เซรุ่มรวมระบบประสาท (Polyvalent antivenum for neurotoxin) จำนวน 189 ราย และเซรุ่มต้านพิษแก้พิษงูแมวเซาจำนวน 144 ราย

อนึ่ง ภาพรวมการบริหารจัดการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในช่วงที่ผ่านมา โดยในส่วนยาบัญชี จ.(2) ในช่วงระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2561 สามารถช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาจำนวน 101,000 ราย ส่วนยากำพร้าและยาต้านพิษ ตลอดระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2561 ได้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาจำนวน 32,098 ราย ขณะที่มูลค่ายาที่ภาครัฐประหยัดงบประมาณจากการบริหารจัดการด้านยานี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2560 เป็นจำนวนเงินถึง 44,430.84 ล้านบาท โดยในปี 2560 ประหยัดได้ถึง 8,567.48 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ายาที่ประหยัดมากกว่าปีที่ผ่านๆ มาทั้งหมด

ขอบคุณแหล่งที่มา เฟซบุ๊ค “Jessada Srikulsaistorn” https://www.facebook.com/jessada.srikulsaistorn/posts/2683275235021582