ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'สปสช.' ลงพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ชมการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิผ่านงบฯ กปท. ส่งผู้ดูแล Care Giver ดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน-ติดเตียงอย่างเป็นระบบ พร้อมเชื่อมการดูแลผู้ป่วยกับ รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน เผยมีแนวคิดเพิ่มการอบรม Care Giver เป็น 420 ชั่วโมง จะดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น พร้อมเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมด้วย ก่อนไปชมพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขอำเภอราษีไศล เก็บรวบรวมผลงาน การทำงานของ 'นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์' ผู้บุกเบิกบัตรทองให้คนไทย 


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการ สปสช. และนางมลุลี แสนใจ ผู้อำนวยการ สปสช. เขตพื้นที่ 10 อุบลราชธานี ลงพื้นที่ไปยัง ต.ไผ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2566 เพื่อเยี่ยมชมโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ที่ดำเนินการโดย องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ (อบต.) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) โดยบูรณาการร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไผ่ (รพ.สต.) และโรงพยาบาลราษีไศล

น.ส.สุดาพร อำไพ รักษาการนายก อบต.ไผ่ เปิดเผยว่า ในพื้นที่ ต.ไผ่ มีประชากรทั้งหมด 5,121 คน รวม 12 หมู่บ้าน และมีผู้สูงอายุในพื้นที่จำนวน 1,050 คน ขณะที่สถานการณ์สุขภาพพบว่า ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน-ติดเตียง ซึ่งมีจำนวน 110 คน โดยทั้งหมดได้รับการดูแลจาก รพ.สต.บ้านไผ่ 

1

นอกจากนี้ ยังได้ใช้งบประมาณจาก กปท. ช่วยหนุนเสริมในการดูแลด้านสาธารณสุขสําหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยเฉพาะการมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ โดยแจกจ่ายให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้คนละ 3 ชิ้นต่อวัน หรือเดือนละประมาณ 30-90 ชิ้นต่อคนต่อเดือน รวมถึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้กับบุคลากรที่มีทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ Care Giver ในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 คนในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

“Care Giver 1 คนจะต้องดูแลผู้ป่วย 10 คน ซึ่งปัจจจุบันยังพอจัดสรรได้ แต่หากมีแนวทางการยกระดับคุณภาพของ Care Giver ให้มากขึ้น รวมไปถึงมีการเพิ่มรายได้ หรือค่าตอบแทนที่เหมาะสมมากขั้นเช่นกัน ก็จะเป็นการช่วยให้เกิดอาชีพในพื้นที่ และผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในพื้นที่จะได้รับการดูแลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการดูแลที่หลากหลายมากขึ้นด้วย” น.ส.สุดาพร ระบุ

3

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบบรรจุผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับขับถ่าย เป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิ์การรักษา โดยใช้งบประมาณจาก กปท. ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2565 โดยปัจจุบันจาก กปท. 7,741 แห่ง มีที่ดำเนินการโครงการผ้าอ้อม 1,981 แห่ง จำนวน 2,434 โครงการ มีผู้ที่ได้รับผ้าอ้อม จำนวน 48,502 ราย ผ้าอ้อมที่แจกมีจำนวน 18.9 ล้านชิ้น และแผ่นรองซับ 583,735 ชิ้น ใช้งบประมาณรวม 183.76 ล้านบาท

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ตำบลไผ่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ทำให้เห็นการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพระดับปฐมภูมิในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบการทำงานของ Care Giver หรือผู้ดูแลสุชภาพที่เป็นการยกระดับ อสม. ให้ทำหน้าที่ได้เพิ่มขึ้นพร้อมกับรับค่าตอบแทนที่มากขึ้นตามสำหรับดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ โดยมีการกำกับดูแลกระบวนการทั้งหมดจากทั้งในส่วนของ Care Manager หรือผู้จัดการระบบการดูแลที่เป็นพยาบาลประจำ รพ.สต. และยังมีกำลังจาก คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่เข้าร่วม ทำให้เกิดการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างเป็นระบบ 

1

ดังนั้น จึงได้หารือกับรักษาการนายก อบต.ไผ่ ถึงการยกระดับ Care Giver ในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อพิจารณาให้ได้รับค่าตอบแทนที่มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะ  Care Giver ในพื้นที่ ให้เพิ่มการอบรมหลักสูตรการดูแลสุขภาพปฐมภูมิมากขึ้น ผ่านแนวทางการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ หลักสูตร 420 ชั่วโมง ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อให้ผ่านการอบรมแล้วจะมีคุณสมบัติที่เพียงพอเพื่อยกระดับรายได้ และทำให้มีประสิทธิภาพในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่มากขึ้น 

"Care Giver จะเป็นบุคลากรที่สำคัญสำหรับระบบบริการสุขภาพในอนาคต จากพื้นที่ อ.ราษีไศลเป็นตัวอย่างที่สะท้อนได้ชัดเจนว่าแม้จะเป็นพื้นที่ที่มีประชากรรายได้ต่ำ แต่มีการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างหน่วยบริการ และท้องถิ่น ซึ่งเป็นทิศทางสำคัญที่เราต้องการยกระดับบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นอาชีพ โดยอาจมีการอบรมเพิ่มเติมในหลักสูตรอีก 420 ชั่วโมงเพื่อให้บริการที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้าน-ติดเตียง รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายด้วย" เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

3

วันเดียวกัน นพ.จเด็จ พร้อมด้วยคณะยังได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลราษีไศล และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขอำเภอราษีไศล (Rasisalai Public Health) ที่จัดตั้งขึ้นตามความตั้งใจของ นพ.สมชาย ภานุมาสวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราษีไศล

นพ.สมชาย กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์สาธารณสุขอำเภอราษีไศล ได้รวบรวมการทำงานอันทรงคุณค่าของอดีตผู้บริหารโรงพยาบาลราษีไศลเพื่อเผยแพร่ให้กับบุคลากรแพทย์ และประชาชนที่สนใจระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ได้เรียนรู้ อีกทั้งยังมีเรื่องราวการเริ่มต้นของการกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ ผู้บุกเบิก และผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ จนนำไปสู่หลักประกันสุขภาพที่เรียกว่าสิทธิ์ 30 บาท หรือสิทธิบัตรทอง ที่ดูแลสุขภาพของคนไทยกว่า 47 ล้านคนในปัจจุบัน และนพ.สงวน ยังเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลราษีไศลอีกด้วย 

"พิพิธภัณฑ์สาธารณสุขอำเภอราษีไศล ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ด้านสุขภาพในทุกมิติของอำเภอ ทั้งการวางรากฐานหน่วยบริการก่อนมาเป็นโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ รวมถึงยังได้เก็บเกี่ยวเอาผลงานของรุ่นพี่ที่เคยทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ หนังสือตำราแพทย์จากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงให้เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา และหาแรงบรรดาลใจในการทำงานด้านสาธารณสุขเพื่อประชาชน" นพ.สมชาย กล่าวตอนท้าย 

3