ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอสมิทธิ์’ ชี้ แนวทางผลิตหมอเพิ่ม เติมลง รพ.สต. ต้องปรับหลักสูตร เน้นสร้าง ‘แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว’ พร้อมกับ ‘เพิ่มค่าตอบแทน-สร้างแรงจูงใจ’


ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธ์ กรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบัน และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชเห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงการประกาศผลิตแพทย์เพิ่ม 25,000 คน เพื่อรองรับเป้าหมายในการทำให้ 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีแพทย์ 3 คนของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ว่า หากต้องการที่จะไปแนวทางนี้จริงๆ ควรจะมีหลักสูตรที่ทำให้แพทย์ที่จบมาเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family medicine) โดยเฉพาะ และขณะเดียวกันก็ต้องปรับค่าตอบแทน และสร้างแรงจูงใจด้วย เพื่อรักษาคนให้อยู่ในระบบด้วย 

ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เช่นนั้นจะเป็นไปได้ยาก เพราะต้องเข้าใจว่าแพทย์ที่จะลงไปทำหน้าที่ใน รพ.สต. ได้ดี และเหมาะสมกับงานก็คือ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพราะถ้าให้แพทย์นิติเวช แพทย์ศัลยกรรม หรือสาขาเฉพาะทางอื่นๆ ก็อาจไม่ต้องจุดนัก เนื่องจากไม่มีความถนัด อีกทั้งจะเป็นการกระทบกับหน้าที่อื่นๆ ที่มีความเฉพาะทางของแพทย์เหล่านี้ด้วย 

ทั้งนี้ ในภาพรวมแพทย์ในระบบบริการสุขภาพของไทย สัดส่วนแพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวนั้นมีน้อยกว่าสาขาเฉพาะทางอื่นๆ จนเรียกได้ว่าค่อนข้างมีความขาดแคลนอย่างมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลักสูตรถูกออกแบบมาเพื่อผลิตแพทย์เฉพาะทางมากกว่า มากไปกว่านั้นคือหน้าที่ที่ต้องทำมีค่อนข้างมาก เพราะมีบทบาทในการให้บริการระดับปฐมภูมิ แต่ค่าตอบแทนกับสวนทาง จึงยิ่งทำให้แพทย์จบใหม่ไม่เลือกที่จะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือที่มีอยู่ในระบบก็ลาออก

“จะบอกว่าหลักสูตรโรงเรียนแพทย์ผิดไหม จริงๆ ก็ไม่ผิดหรอก แต่หลักสูตรมันไม่ตรงกับความต้องการของรัฐบาล ความต้องการคือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แต่หลักสูตรกระจายไปทุกสาขา ไม่ได้เฉพาะเจาจงแค่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอย่างเดียว เพราะฉะนั้นมันควรจะต้องมีหลักสูตรเฉพาะของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจริงๆ

“ซึ่งก็ต้องมีการมาคุยกับทางแพทยสภาว่าจะดำเนินการอย่างไร ไปในทิศทางไหน แต่จริงๆ คือไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมที่ผ่านมาในแพทยสภาไม่เคยมีคุยกันเรื่องนี้ ผมก็พึ่งสังเกตว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมันจำเป็นต้องผลิตเยอะ แต่ไม่เห็นมีการคุยกันหรือปรับระบบกันมานาน” นายกสมาคมแพทย์นิติเวชเห่งประเทศไทย ระบุ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าบอกว่าจะผลิตแพทย์ 25,000 คน เพื่อลงไป รพ.สต. แล้วทั้งหมดเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คิดว่าไม่น่าใช่ และไม่น่าเป็นไปได้ด้วย เนื่องจากสุดท้ายตัวแพทย์เองเป็นคนเลือกอยู่แล้ว แต่ถ้าผลิตมาไม่ใช่เวชศาสตร์ครอบครัวก็ไม่ตรง แต่หากจะเปลี่ยนแปลงจริงก็ต้องใช้เวลา 5-6 ปีเหมือนเดิม เพราะตอนนี้เด็กเข้ามาก็ไม่ได้อยากเป็นแพทย์เวชศาสตร์

“ส่วนถ้าเกิดขึ้นจริงจะล้นไหม เพราะจะมีหมอเพิ่มเป็นเท่าตัว ตอบยาก เพราะสุดท้ายมันก็จะมีคนออกนอกระบบอยู่ดี คือตอนนี้มันกลายเป็นว่าผลิตเยอะๆ ไว้ก่อน แล้วก็ใครออกก็ออกไป มันก็เลยดูประหลาดๆ อย่างนี้

“ฉะนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไปหลายอย่าง อย่างหนึ่งในนโยบายสาธารณสุขประกาศออกมาก็คือ การสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับผมไม่ใช่การผลิตเพิ่ม แต่คือการรักษาคนให้อยู่ในระบบ” ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว