ปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ ในประเทศไทย ในมุมหนึ่งไม่ต่างไปจาก ‘ระเบิดเวลา’ ที่อันแน่นไปด้วยพลานุภาพทำลายล้าง หากทุกฝ่ายยังไม่เร่งกู้หรือร่วมกันหาทางปลดชนวน มีโอกาสสูงที่ประเทศไทยจะ ‘ไม่ได้เกิด’ ในอนาคต
นั่นเพราะจำนวนเด็กที่เกิดน้อย แปรผันโดยตรงกับจำนวน ‘วัยแรงงาน’ ที่จะก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง
แน่นอน เมื่อไม่มีกำลังคน ไม่มีแรงงาน กลไกและระบบเศรษฐกิจของประเทศก็จะสั่นคลอน รายได้รัฐและสวัสดิการก็จะถดถอย
“ปัญหาของสังคมเด็กเกิดน้อยเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแล ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง เศรษฐกิจ แรงงาน หรือสาธารณสุข” ศุภานัน เจนธีรวงศ์ นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) วาระปีการศึกษา 2566 แสดงความคิดเห็นในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย: ปัญหาและทางออก” เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย
ความเห็นข้างต้นของตัวแทนนักศึกษาแพทย์เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับการขยายความออกเป็น 4 ประเด็นข้อเสนอ
ศุภานัน อธิบายว่า การแก้ไขปัญหาเรื่อง ‘เด็กเกิดน้อย’ นั้น ประการแรกสัมพันธ์กับ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของ Generation ตามกาลเวลา
กล่าวคือ เมื่อก่อนเบบี้บูมเมอร์ต้องการมีลูกเพื่อให้ลูกทำงาน ส่วนยุคปัจจุบันคนต้องการสังคมที่เพียบพร้อมก่อน หรือต้องการการศึกษา ต้องการเงินที่มากพอที่จะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อนจึงจะมีลูก
“แน่นอนว่าทัศนคติที่ต่างกันเหล่านี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นจำเป็นต้องดูลักษณะเฉพาะของแต่ละเจนเพื่อที่จะลดช่องว่างระหว่างกัน และหากมีการจัดเสวนา มีการจัดทำนโยบายสาธารณะต่างๆ ผู้ใหญ่อาจจะเปิดพื้นที่ให้กับคนเจนวาย เจนแซด ให้เข้ามาร่วมในวงด้วย”
ประการถัดมา คือการสร้างความมั่นคง
ศุภานัน ขยายความว่า ต้องสร้างความมั่นคงให้กับผู้หญิงที่อยู่ในวัยทำงาน และทำให้การตั้งครรภ์ไม่กระทบต่อการทำงาน ซึ่งอาจจะทำในรูปแบบการให้สิทธิสวัสดิการ ส่วนตัวเสนอว่าให้มีการจัดทำ ‘เพิ่มเวลาลาคลอด’ หรือเพิ่มเวลาลางานเพื่อการเลี้ยงบุตร
“ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้ลาคลอดได้ 90 วัน แต่หากพิจารณาตามหลักการแพทย์ จริงๆ แล้วลูกต้องการนมแม่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ฉะนั้นตัวเลขที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 150 วัน ซึ่งระหว่างที่ลาคลอดนั้น จำเป็นต้องมีแนวทางดูแลเรื่องค่าแรง-ค่าตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องคุยกันให้เกิดความเหมาะสม”
ประการที่สาม คือเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจ ANC หรือการฝากครรภ์
นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์ฯ แสดงความคิดเห็นว่า ในการฝากครรภ์ อาจต้องมีการดูถึงสภาพสังคมและความพร้อมในการมีบุตรของแม่ด้วย แพทย์จะเป็นผู้ดูแลองค์รวมให้มากขึ้น ตลอดจนการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาตั้งแต่อยู่ในระดับมัธยม เพื่อให้มีทัศนคติในเรื่องเพศที่ถูกต้องและสามารถพูดหรือสอนกันได้อย่างเรื่องปกติ
“ส่วนหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ รัฐบาลหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรพิจารณานโยบายในเชิงการสนับสนุนคุมกำเนิดเมื่อไม่พร้อม เช่น การใช้ห่วงคุมกำเนิด การใช้ถุงยาง โดยสนับสนุนให้ฟรีสำหรับทุกคน”
ประการสุดท้ายคือ การปลูกฝังทัศนคติและการดูแลหลังคลอด
ศุภานัน กล่าวว่า ในประเด็นนี้ ควรให้น้ำหนักกับ ‘การดูแลหลังคลอด’ ให้มากขึ้น โดยสามารถออกแบบเป็นกองทุนระยะยาว เช่น กองทุนการออมเพื่อบุตร เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะเงินในการดูแลบุตรให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
“คิดว่าข้อเสนอนี้จะแก้ปัญหาในระยะยาว ช่วยให้คนรุ่นใหม่มีความมั่นใจว่า การมีบุตรเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งจะดีทั้งต่อครอบครัว ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ”
เหล่านี้เป็นข้อเสนอบางช่วงบางตอนจากเวทีสนนทนาสาธารณะ และสอดคล้องกับมุมมองของ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่า เมื่อโครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในขณะเดียวกันคนในปัจจุบันกลับไม่ต้องการมีบุตร จึงส่งผลให้เด็กเกิดน้อย
การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากจะต้องแสวงหาแนวทางทำให้เด็กเกิดมากขึ้นแล้ว ยังต้องมี “ระบบรองรับ” เพื่อให้เด็กที่เกิดขึ้นมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะดี
นพ.ประทีป ย้ำว่า ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ‘การสร้างระบบรองรับ’ เพื่อให้การเกิดไม่เป็นภาระของครอบครัว และช่วยให้พ่อแม่มีความมั่นใจว่าเมื่อลูกเกิดมาแล้วจะมีความปลอดภัย เจริญเติบโตในประเทศนี้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ได้ให้ความสนใจและแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และผลักดันในเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
“ในเรื่องนี้ทางสภาพัฒน์ฯ มีแผนและแนวทางการขับเคลื่อนอยู่ แต่ถ้าจะผลักดันให้ได้ผลจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อน ในวันนี้เราจึงเอาแผนของสภาพัฒน์ฯ มากาง แล้วร่วมกันวิเคราะห์ ออกแบบการทำงานในเชิงระบบ ซึ่งวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสานพลังแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง” นพ.ประทีป กล่าว
- 156 views