ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมยื่นข้อเสนอ ‘นพ.ชลน่าน-ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ’ แก้กฎหมายบัตรทอง เพิ่มอำนาจ สปสช. ขายประกันผู้ที่ไม่ใช่คนไทย และ “รวมกองทุน” เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ


นายนิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า เตรียมยื่นข้อเสนอถึงคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เตรียมจัดตั้งขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงตัวของ รมว.สธ. และรัฐบาล เพื่อให้แก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 5,9,10,11 สำหรับให้อำนาจสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถขายประกันสุขภาพให้แก่บุคคลที่ไม่ใช่คนไทยได้ ซึ่งจะเป็นการดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุมไม่ใช่เพียงเฉพาะคนไทยเท่านั้น

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จะระบุว่า “บุคคลทุกคน” มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด แต่ที่ผ่านมาถูกตีความว่าต้องเป็น “คนไทย” เท่านั้น นั่นจึงทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ไม่ครอบคลุมบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนไทย แต่การดูแลสุขภาพนั้นจำเป็นต้องดูแลทุกคน เพราะปัญหาสุขภาพไม่เลือกเฉพาะแค่คนไทย

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า หากมีการปรับแก้กฎหมาย จะทำให้คนที่ไม่ใช่คนไทยเข้ามาซื้อประกันสุขภาพได้ และเป็นการให้อำนาจแก่ สปสช.ในการสร้างต้นแบบเรื่องของราคา รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในการประกาศกำหนดรายละเอียดขึ้นมา 

“การจะทำตรงนี้ได้จำเป็นต้องไปแก้กฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็น วรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามของมาตรา 5 ก็ได้ เพราะใช้คำว่าบุคคลทุกคนอยู่แล้ว แต่เมื่อมาถึงวรรคสองก็ให้ระบุว่าบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ซื้อประกันสุขภาพจาก สปสช.” นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้อยากจะเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดการ ‘รวมกองทุนสุขภาพ’ โดยมาตรา 9 เกี่ยวกับขอบเขตของสิทธิของส่วนราชการองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ส่วนมาตรา 10 เกี่ยวข้องกับประกันสังคม และการเจรจาให้รวมเป็นกองทุนเดียวกัน 

ทั้งนี้ หลักการสำคัญคือ เมื่อรวมเป็นกองทุนเดียวกันแล้ว สิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุนก็จะยังคงเหมือนเดิม แต่ระบบบริหารจัดการจะต้องดีขึ้น ยืนยันว่าการรวมกองทุนไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิประโยชน์ของใคร แต่เป็นการทำให้แต่ละสิทธินั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นการยกระดับ 30 บาทได้จริง 

“นี่เป็นข้อเสนอถึงซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ รวมไป รมว.สาธารณสุข และรัฐบาล เพราะคุณคุมเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว หากจะทำจริงๆ จะทำได้เร็วมาก แบบนี้ถึงจะยกระดับจริงๆ” นายนิมิตร์ กล่าว