ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อมูลจากวารสารการแพทย์ The Lancet ฉบับเดือน พ.ย. ปี 2565 ระบุว่า จากผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกกว่า 537 ล้านคน เกือบ 90% เป็น ‘โรคเบาหวานชนิดที่ 2’ ซึ่งเป็นชนิดที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็น ‘โรคไตเรื้อรัง’ ร่วมด้วยถึง 20-40% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด 

ฉะนั้นหากกล่าวว่า “ถ้าเป็นเบาหวานแล้ว สถานีต่อไปก็คือไตเรื้อรัง ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก

สาเหตุที่ทำให้ไพ่ออกหน้านั้นก็คือ เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงนั้น จะส่งผลให้ไตสามารถกรองของเสียได้น้อยลง เพราะน้ำตาลไปสะสมอยู่ที่เส้นเลือดฝอยที่ไต ทำให้เกิดการตีบหรือตัน

นอกจากนี้ ยังทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย การทำงานระหว่างสมองและอวัยวะที่ควบคุมจะมีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะกะเพาะปัสสาวะ ซึ่งทำให้เกิดการคั่งค้าง และนำไปสู่การติดเชื้อ ลามไปถึงอวัยวะอื่นๆ โดยที่สุดแล้วก็จะทำลายเนื้อไตไปด้วย 

ที่สำคัญคือ 9 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมักไม่รู้ว่าตนเองเป็น เพราะไม่มีการแสดงอาการตั้งแต่ต้น แต่ผู้ป่วยมักจะเริ่มรู้ตัวก็เมื่อไปถึงระยะร้ายแรงแล้ว 

อย่างไรก็ดี เหล่านี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่อย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจตัวโรคกันก่อน และเพื่อการนั้น เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 จึงได้มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “รู้เท่าทัน โรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เช็คทันเวลา รักษาไว ชะลอไตเสื่อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ขึ้นเพื่อพาทุกคนไปทำความเข้าใจความเชื่อมโยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไตเรื้อรัง เพื่อจะได้ระวังตัวได้ทันท่วงที 

2

ศ.คลินิก นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย อธิบายว่า โรคเบาหวาน คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งในปัจจุบันการวินิจฉัยต้องอาศัยการเจาะเลือดเพื่อดูน้ำตาลในเลือดว่าเข้าสู่การเป็นโรคเบาหวานแล้วหรือยัง

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดเข้าขั้นเบาหวาน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างแน่ชัด และจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อตรวจสุขภาพหรือตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งการตรวจค้นหาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวจึงมีความสำคัญที่จะทำให้เริ่มการรักษาได้เร็วก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจจอรับภาพของตา ตรวจปัสสาวะดูระดับไข่ขาวและตรวจเลือดดูการทำงานของไตปีละ 1 ครั้งในกรณีที่ยังไม่เคยตรวจพบความผิดปกติมาก่อน และควรตรวจบ่อยขึ้นหากตรวจพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวแล้ว

“โรคเบาหวานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ การตรวจค้นภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญ เพราะถ้าปล่อยให้ภาวะแทรกซ้อนเป็นมากขึ้นก็อาจจะรักษาไม่หาย เช่น ไต โรคแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเบาหวานค่อนข้างกลัวคือการเป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องล้างไต” ศ.คลินิก นพ.ชัยชาญ กล่าว

ศ.คลินิก นพ.ชัยชาญ ยังระบุอีกว่า ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนทางไต ไม่ว่าจะเจอไข่ขาวหรือการทำงานของไตที่เสื่อมลงได้ถึง 40% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด ซึ่งตามแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน จะแนะนำให้ ตรวจปัสสาวะอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อดูเบาหวานลงไต ในกรณีที่เป็นการคัดกรอง หากพบว่ามีความผิดปกติก็สามารถได้รับการตรวจได้ถี่ขึ้น 

สอดคล้องกับ นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า สาเหตุของการเกิด “โรคไตวายระยะสุดท้าย” ในประเทศไทยยังคงเป็นโรคเบาหวาน โดยคิดเป็น 40% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด  ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่ไม่สามารถคุมเบาหวานได้เป็นระยะเวลานาน

3

ทว่า สำหรับค่าไตของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานในระยะแรกส่วนมากการทำงานของไตยังทำได้ค่อนข้างดี ส่วนในระยะที่ 3 ค่าไตจะลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง หากควบคุมโรคได้ดีก็จะสามารถชะลอการเข้าสู่ระยะถัดไปได้ แต่หากไม่สามารถควบคุมได้จนเข้าระยะที่ 4 ค่าไตจะลดลงมาอยู่ประมาณ 25% ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการซีด เพลีย เหนื่อย บวม และมีโรคแทรกซ้อน หากปล่อยให้ค่าไตเหลือ 10-15% ไตจะไม่สามารถขับของเสียได้ ตรงนี้จะเป็นจำต้องใช้การบำบัดทดแทนไต ไม่ว่าจะเป็นการล้างไตผ่านทางช่องท้อง ฟอกเลือด หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต

นพ.วุฒิเดช กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากโรคเบาหวานที่เป็นปัญหาแล้ว โรคไตก็ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ที่คุกคามสุขภาพของผู้ป่วยในระบบสาธารณสุข โดยในปี 2565 พบว่ามีผู้ป่วยไตประมาณ 17.5% หรือคิดเป็นประมาณ 9 ล้านรายของประชากร และใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดูแลกว่า 2 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่โรคไตเรื้อรังเท่านั้น ที่มีโรคเบาหวานเป็นต้นเหตุ แต่ ‘โรคหัวใจ’ ก็ใช่ด้วยเช่นกัน โดย ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ ประธานชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย บอกว่า โรคเบาหวานสามารถทำให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจ หัวใจล้มเหลว หรือโรคหลอดเลือดมากกว่า 2-4 เท่าของผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน เพราะเสี่ยงต่อการที่ไขมันจะเข้ามาเกาะอยู่ตามเส้นเลือดหัวใจจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความดันโลหิต หรือไขมันในเลือดสูง

3

มากไปกว่านั้น หากผู้ป่วยโรคเบาหวานคู่ไปกับโรคไตแล้วยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น และยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายในอนาคตเท่ากับผู้ที่มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจตายแต่ไม่เป็นเบาหวานอีกด้วย 

นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ ประธานวิชาการชมรมหัวใจล้มเหลวแห่งประเทศไทย ยังได้เสริมด้วยว่า นอกจากโรคไตที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้วนั้น ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากโครงสร้างหัวใจผิดปกติ ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโนมที่จะรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับหัวใจให้เร็วขึ้น กล่าวคือในช่วงที่ภาวะแทรกซ้อนยังไม่รุนแรง เนื่องจากในอดีตการรักษาจะอยู่ในช่วงท้ายซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว

“จะดีกว่าถ้าเจอตั้งแต่ต้นๆ ปัจจุบันเราพยายามไม่อยากรอให้เป็นโรครุนแรง อยากตรวจให้เจอก่อนช่วงต้น” รศ.นพ. ธีรภัทร ระบุ 

รศ.นพ.ธีรภัทร แนะนำว่า ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลควรตระหนักถึงความสำคัญของรายละเอียดในการตรวจสุขภาพ เพื่อการวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวานที่เร็วขึ้น เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เร็ว โดยการตรวจหาโปรตีนรั่วในปัสสาวะด้วยวิธีการตรวจปัสสาวะ (uACR) ปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะนำไปสู่ไตเสื่อมและภาวะไตวายได้

2