ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Service Plan NCDs นำเสนอแผนป้องกันโรคเบาหวาน ความดัน ให้ทุกภาคส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมในพื้นที่ ใช้สื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง ควบคุมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ความดันรายใหม่ และลดชะลอไตเสื่อมได้ดี


เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) เขต 4 สระบุรี  ประชุมคณะ อนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขต 4สระบุรี ครั้งที่ 4/2565 โดยมี  นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านหมี่ ประธาน อคม. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นพ.ชลอ  ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี และอนุกรรมการ เข้าร่วมประชุมคอบองค์ประชุม ดำเนินการประชุมในเป็นรูปแบบผสมผสาน ณ ห้องประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๔ สระบุรี และผ่านระบบ ZOOM

1

โดยมีวาระรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ ผลการดำเนินงานการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ ในประเด็นมารดาเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์  ผลการดำเนินงานการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ ในประเด็นการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูง  ผลการประเมินหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) ปีงบประมาณ 2565  ผลการพิจารณาช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ  รายงานผลการตรวจสอบการชดเชย กรณีผู้ป่วยใน ปีงบประมาณ 2565  ผลการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปประจำปี  และแนวทางการขับเคลื่อนข้อเสนอปี 2565

ทั้งนี้ที่ประชุมนำเสนอสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 4 ปี และผลการดำเนินงานการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง 3 ปี (2563-2565) โดย  พญ.หทัยรัตน์ อัจจิมานนท์ อคม. สัดส่วน ผู้ทรงคุณวุฒิจากราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทาง สาขากุมารเวชกรรม  พร้อมทั้งนำเสนอแผนการดำเนินงานการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของ Service Plan NCDs  ปี 2566

พญ.หทัยรัตน์ อัจจิมานนท์ อคม. กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในเขตสุขภาพที่ 4  มีประชากรอายุมากกว่า 35 ปี จำนวน 2.1 ล้านคน ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 6 แสนกว่าราย  เป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 55,000 ราย  ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 3 แสนกว่าราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 29,000 ราย  และเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ที่มาจากกลุ่มเสี่ยงปีที่ผ่านมา ร้อยละ 5.2  (1,119 ราย)  ผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ที่มาจากกลุ่มเสี่ยงปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.7 (2,736 ราย)  ได้รับการตรวจ BP (ความดันเลือด) ร้อยละ 60  พบว่าควบคุม HT (ความดันโลหิต) ได้ 2.6 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 69  ได้รับการตรวจ HbA1c (ระดับน้ำตาลในเลือด) ร้อยละ 59 พบว่าควบคุม DM (เบาหวาน)ได้ 8.4 หมื่นราย ร้อยละ 48   ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ป่วยเป็นโรคไตเสื่อมรายใหม่ ปีละ 7,700 ราย  

1

ในปี 2565 จำนวนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 10,805 ราย เสียชีวิต 1,610 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.9 และจำนวนผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (STEMI) 400 ราย เสียชีวิต 42 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.5 ปี 2566 ได้เสนอแผนจะทำโครงการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง คาดว่าอัตราการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ทั้งเบาหวานและความดันโลหิตสูงลดลง  สรุป Action Plan ปี 2566 ประกอบด้วย 1.การคัดกรองติดตามยืนยันวินิจฉัยกลุ่มสงสัยป่วย 2.กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย กลุ่มป่วยที่มี eGFR decline (eGFR ลดลงมากกว่า 5%) 3.พื้นที่ต้นแบบปฏิรูปสุขภาพด้าน NCDs (สปก./ชุมชน/โรงเรียน)

โดยกิจกรรมในโครงการเป็นการใช้สื่อในรูปแบบปฏิทินเพื่อย้ำเตือนให้ผู้ป่วยตระหนักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอาหาร การออกกำลังกาย และเข้าถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ องค์ความรู้จากกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)  เพื่อลดการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ จึงได้นำเสนอแผนกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อคาดหวังให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน หน่วยบริการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมมือให้เกิดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ พญ.หทัยรัตน์ กล่าว

สำหรับสื่อปฏิทินที่ใช้เป็นเครื่องมือในโครงการฯ ประกอบด้วยปฏิทินการกินอาหารในแต่ละวัน แต่ละมื้อ เมนูอาหารที่ควรกิน สัดส่วนที่ควรกิน เมนูอาหารที่ควรงด และลดการกิน การออกกำลังกาย ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกสิทธิ สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเขตสุขภาพที่ 4 549/1 ถ.พิชัยณรงค์สงคราม ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี โทร:036230929 โทรสาร : 036230930 E-mail : [email protected]

3