ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ร่วมรณรงค์ “วันเบาหวานโลก” จัดสิทธิประโยชน์บริการควบคุม-ป้องกัน-รักษาต่อเนื่อง เผยปี 2565 จัดงบ 1,154 ล้านบาท มุ่งเป้าให้บริการกว่า 3.71 ล้านครั้ง พร้อมเปิดข้อมูลกองทุนบัตรทอง ปี 2563 เบาหวานอยู่อันดับต้นโรคที่มีผู้ป่วยรับบริการมากที่สุด


นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันเบาหวานโลก” เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตื่นตัวในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งสถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย จากข้อมูลสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานราว 5 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 ของประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 100,000 คนต่อปี 

ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์โรคเบาหวานที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมที่แยกจากงบเหมาจ่ายรายหัวตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เพื่อเร่งรัดการให้บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง รวมทั้งชะลอภาวะเจ็บป่วยจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากทำให้ผู้ป่วยการเข้าถึงบริการควบคุมและป้องกันเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังนำไปสู่การจัดระบบดูแลโรคเบาหวานของหน่วยบริการอย่างมีคุณภาพ

“บอร์ด สปสช.ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก เพราะโรคเบาหวานเป็นความเสี่ยงที่นำไปสู่โรคเรื้อรังรุนแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง จึงได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณสิทธิประโยชน์นี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลให้ประชาชนเข้าถึงบริการควบคุม ป้องกัน และรักษา ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นี้ จัดสรรที่จำนวน 1,154.78 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายบริการจำนวน 3,711,100 ครั้ง จากที่ปี 2553 ที่ได้เริ่มแยกงบประมาณดูแล เริ่มที่งบประมาณ 400 ล้านบาท” นพ.จักรกริช กล่าว

นพ.จักรกริช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่า สปสช. จะได้ดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นสู่บริการควบคุม และป้องกัน ควบคู่กับการรักษาแล้ว แต่โรคเบาหวาน โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน ยังเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเข้ารับการดูแลและรักษาพยาบาลในอันดับต้นๆ ของการเข้ารับบริการ ซึ่งจากรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบประมาณปี 2563 ในกลุ่มผู้ป่วยนอก โรคเบาหวานมีจำนวนการเข้ารับบริการสูงถึง 10,785.775 ครั้ง สูงเป็นอันดับที่ 2 ของการรับบริการผู้ป่วยนอก

ในส่วนของกลุ่มผู้ป่วยใน โรคเบาหวานมีจำนวนการเข้ารับบริการสูงถึง 98,403 ครั้ง สูงเป็นอันดับ 10 ของการรับบริการผู้ป่วยใน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เร่งแก้ไข ซึ่งเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค จำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน

“ที่เราพยายามทำให้เกิดคือสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมป้องกันโรคที่ยังมีช่องว่างอยู่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองประชาชน มองกว้างมากกว่าเรื่องการรักษาอย่างเดียว ดังนั้นเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนหนึ่งอยู่ที่พฤติกรรมและปรับระบบการบริการ การดูแลสุขภาพแบบใหม่ให้คนไข้มีความรู้และทักษะที่จะสามารถดูแลตัวเองได้ หรือใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี กับเรื่องของการทำการบริบาลทางไกล ซึ่งตอนนี้ สปสช.กำลังเดินไปในทิศทางนี้ให้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพให้กับประชาชน” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว