ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชนด้านการขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ระบุ งบ 990 ล้านบาทที่ ครม. อนุมัติให้เด็กเล็ก จ่ายให้แก่ ‘เด็กที่ลงทะเบียนแล้ว’ ตามเดิม ไม่ใช่จ่ายอุดหนุนแบบถ้วนหน้า แนะควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ เปลี่ยนเป็นสนับสนุนถ้วนหน้า-โอนงบประมาณ แก้ปัญหาระยะยาว 


จากเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบงบประมาณสำหรับอุดหนุนเด็กแรกเกิด 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท สำหรับเดือน ก.ย. 2566 ประมาณ 990 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และพร้อมจ่ายเข้าบัญชีให้กับเด็กแต่ละครอบครัวตามหลักเกณฑ์ คือ ครอบครัวต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จำนวนกว่า 2.2 ล้านรายภายในวันที่ 18 ก.ย. นี้ 

ประเด็นดังกล่าว นางสุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เครือข่ายภาคประชาชน เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า มติดังกล่าวเป็นเพียงการของบประมาณเพิ่มจาก ครม. ให้แก่เด็กที่ลงทะเบียนใหม่ที่หลุดออกจากงบประมาณหลังจากตั้งงบไว้ช่วงต้นปีงบประมาณเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และไม่ได้มีอะไรที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงไม่ใช่การอุดหนุนถ้วนหน้าอย่างที่บางคนเข้าใจผิด 

นางสุนี กล่าวว่า งบประมาณที่ได้มาเป็นงบประมาณที่จะต้องจ่ายให้กับเด็กที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการคัดกรองแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวเลขประมาณ 2.2 ล้านรายนั้นจะเปลี่ยนไป เพราะเมื่อไหร่ที่มีเด็กอายุเกินเกณฑ์ก็จะถูกตัดออก เนื่องจากไม่ใช่สวัสดิการแบบถ้วนหน้าทำให้ฐานขอมูลไม่เป็นระบบและไม่นิ่งพอที่จะตั้งงบประมาณล่วงหน้าในกรณีที่มีเด็กเกิดใหม่จนนำไปสู่การสูญเสียโอกาส

“คนโทรมาถามดีใจคิดดว่ารัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า เพราะออกมาตอนแถลงนโยบายพอดีตอนเราเรียกร้องไป แต่จริงๆ ไม่ใช่” นางสุนี ระบุ 

ทั้งนี้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการ เพราะเมื่อขึ้นทะเบียนต้องขึ้นกับท้องถิ่น แต่ พม. เป็นคนอนุมัติ ทำให้ยังมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนแต่ไม่ผ่านการคัดกรองอยู่มาก เกิดเป็นปัญหาซ้ำซ้อนที่กระทบต่องบประมาณ

“การที่เกิดปัญหาลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ประชาชนสับสน เดือดร้อน ความจริงจะแก้ได้ก็อยากย้ำว่าถ้ามีนโยบายสวัสดิการให้เงินอุดหนุนเด็กล่วงหน้า ในระยะยาวต่อไปโอนงบประมาณ อำนาจหน้าที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดการ ก็จะลดภาระของ พม. ที่อาจจะไม่ได้รู้จักเด็กมากกว่าท้องถิ่น แต่ต้องให้งบประมาณด้วยถึงจะแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อทำให้สวัสดิการเด็กดีขึ้น” นางสุนี กล่าว