ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นอกจากการไปรับบริการที่โรงพยาบาลแล้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนให้เกิดหน่วยนวัตกรรม ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายบริการของ สปสช. 

ไม่ว่าจะเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รวมทั้ง ‘คลินิกกายภาพบำบัด’

ในส่วนของคลินิกกายภาพบำบัดนั้น สปสช. ร่วมกับสภากายภาพบำบัด เชิญชวนคลินิกของภาคเอกชนเข้ามาร่วมในเครือข่ายหน่วยบริการในระบบมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพได้สะดวกและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศเข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว จำนวน 68 แห่ง 

1

กายภาพบำบัด 4 กลุ่มโรค

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. อธิบายว่า แนวคิดในการนำคลินิกกายภาพบำบัดร่วมเป็นหน่วยบริการในเครือข่าย สปสช. นั้น เนื่องจากต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดแก่ผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ ช่วยหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดการรอคอยของผู้ป่วย 

ด้วยเหตุนี้ สปสช. จึงมีแนวคิดในการดึงคลินิกกายภาพบำบัดในภาคเอกชน เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการจัดบริการมากขึ้น ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น สะดวก ปลอดภัยใกล้บ้าน ขณะที่โรงพยาบาลเองก็จะลดความแออัดลงด้วยได้

สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care ) นั้น สปสช. ได้กำหนดไว้ใน 4 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) 2. ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury) 3. ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) และ4. ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip)

2

“ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเราเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย เมื่อมีอายุมากขึ้นก็มีโอกาสพลัดตกหกล้ม และเมื่อรักษาจนพ้นช่วงวิกฤติแล้วก็ต้องเข้าสู่การฟื้นฟู ถ้ามีเครือข่ายคลินิกกายภาพบำบัด ร่วมเป็นจัดบริการ ผู้ป่วยก็จะมีทางเลือกในการไปรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดใกล้บ้าน สะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น หรือในรายที่ไม่สะดวกในการเดินทาง นักกายภาพบำบัดก็จะลงไปจัดบริการกายภาพบำบัดแบบเข้มข้นที่บ้านของผู้ป่วย ช่วยประเมินสภาพแวดล้อมและให้คำแนะนำในการดูแลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ อีกด้วย”ทพ.อรรถพร กล่าว

ทั้งนี้ คลินิกกายภาพบำบัดที่ร่วมเป็นเครือข่าย สปสช. จะต้องผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนโดยมีนักกายภาพบำบัดอยู่ประจำ ซึ่งสังเกตได้ที่หน้าคลินิกจะมีป้ายแสดง “คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น” หรือสามารถโทรศัพท์สอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้ว่าในพื้นที่นั้นๆ มีคลินิกกายภาพบำบัดในเครือข่าย สปสช. หรือไม่ 

อุปสรรคที่ต้องเร่งคลี่คลาย

ด้าน รศ.ดร.กภ.มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยระยะกลางใน 4 กลุ่มโรค ที่จำเป็นในการทำกายภาพบำบัดนั้นมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น เช่น กระดูกสะโพกหักที่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้ม ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เมื่อได้รับการรักษาจนพ้นขีดอันตรายแล้ว จะมีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องมีนักกายภาพบำบัดเข้ามาช่วยดูแลเพื่อลดภาระโรคและความเสื่อม ซึ่งช่วงเวลาทองให้การกระตุ้นให้ใช้งานกล้ามเนื้อได้ดีที่สุดคือภายใน 6 เดือนแรก โดยปกติแล้วเมื่อรักษาเสร็จ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกลับบ้านแล้วนัดมาทำกายภาพที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

4

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรในโรงพยาบาลที่ ทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องการกายภาพบำบัดในแต่ละวันเยอะมาก ไม่สามารถนัดมาได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ประกอบกับความไม่สะดวกในการเดินทาง เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้ต้องให้ญาติพามา ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากขาดนัดจนหายออกไปจากระบบ ส่วนใหญ่จะทำกายภาพกันตามมีตามเกิดกันเอง

รศ.ดร.กภ.มัณฑนา กล่าวอีกว่า การจัดระบบของ สปสช. จึงช่วยกระจายผู้ป่วยให้มีนักกายภาพบำบัดไปให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้าน โดยที่รัฐ (สปสช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณ ประโยชน์ทางอ้อมคือนักกายภาพเห็นสิ่งแวดล้อมที่บ้านของผู้รับบริการ ทำให้สามารถให้คำแนะนำการฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองและญาติให้การช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ฝึกการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ช่วยลดภาระงานในโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญคือทำให้ผู้ป่วยไม่หายไปจากระบบการรักษา 

“ตอนนี้ปัญหาคือ 1. ตัวผู้ป่วยไม่รู้สิทธิว่า เมื่อเจ็บป่วยและเป็นผู้ป่วยระยะกลางใน 4 โรคนี้สามารถรับบริการได้อย่างต่อเนื่องทั้งในโรงพยาบาลและคลินิกกายภาพบำบัดของเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช. 2. บุคลากรในโรงพยาบาลที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือส่งคงต่อผู้ป่วย ยังไม่รู้ว่ามีทางเลือกนี้ ดังนั้น หากทำให้ระบบนี้ Flow ได้ดี ก็จะทำให้เกิดการให้บริการอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ที่จะตามมาคืออย่างน้อยจะช่วยลดจำนวนคนพิการ หรือลดจำนวนผู้ติดบ้านติดเตียงและเสียชีวิต ของผู้ป่วยเหล่านี้ได้” รศ.ดร.กภ. มัณฑนา กล่าว

4

ขั้นตอนการเข้าถึงบริการ

กภ.ระพีพัฒน์ จิตมาลย์ นักกายภาพบำบัด จาก กนก เฮลท์ แคร์ กล่าวว่า การทำกายภาพบำบัดไม่ได้มองว่าต้องทำกี่ครั้งแต่สำคัญที่ความสม่ำเสมอมากกว่า เช่น สัปดาห์ละ 3 ครั้งก็ควรต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และไม่จำเป็นต้องทำแค่ 6 เดือน บางรายก็นานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย ดังนั้น การที่ สปสช. จัดระบบบริการในลักษณะนี้ถือว่าตอบโจทย์อย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หากคนไข้จะไปรับบริการที่โรงพยาบาลก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เช่น อาจต้องโทรเรียกรถพยาบาลมารับ เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500-2,000 บาท หรือหากไปรับบริการกับเอกชน ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณครั้งละ 1,000 บาท ไปรับบริการ 20 ครั้ง ก็รวมเป็นเงินกว่า 20,000 บาทแล้ว ยิ่งถ้ามีอุปกรณ์ก็ต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีก จะเห็นว่ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าการให้นักกายภาพลงไปเยี่ยมที่บ้าน

สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทเพื่อรับบริการกายภาพบำบัดนั้น สามารถรับบริการได้ 2 รูปแบบคือ 1. รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลที่รักษาให้ไปรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดและ 2.ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ของผู้ป่วยส่งให้ แต่ผู้ป่วยต้องมาแจ้งความประสงค์ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขก่อน แล้วถึงส่งไปรับบริการที่คลินิกกายภาพในเครือข่ายบริการนั้นๆ ซึ่งเมื่อมีรายชื่อเข้ามาในระบบ คลินิกกายภาพบำบัดก็จะโทรนัดและจัดบริการกายภาพบำบัดทั้งที่คลินิก และที่บ้านผู้ป่วยกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการเดินทางมารับบริการ

3

“ผู้ป่วยที่ให้บริการส่วนใหญ่ในตอนนี้คือเราไปเยี่ยมที่บ้านเลย การเยี่ยมบ้านมีข้อดีคือได้เห็นสภาพแวดล้อม ได้ดูว่าการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้ป่วยเป็นอย่างไร สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามสภาพความเป็นจริง แต่ก็จะมีข้อจำกัดตรงที่อุปกรณ์บางอย่างไม่สามารถขนย้ายไปไว้ที่บ้านได้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรมารับบริการที่คลินิกด้วยก็จะดี ซึ่งในกระบวนการฟื้นฟูนั้น เราจะเน้นไปที่การทำกิจวัตรประจำวันให้ได้เร็วที่สุดหรือเป็นภาระญาติให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การเคลื่อนไหวบนเตียง การนั่งทรงตัว การนั่งแล้วยืน ยืนแล้วเดินได้ เป็นสำดับไป รวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อม แนะนำการจัดบ้าน การปรับทางเดิน ให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย”กภ.ระพีพัฒน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นอกจากการโฟกัสที่ตัวผู้ป่วยแล้ว นักกายภาพบำบัดจะมีการให้คำแนะนำต่างๆแก่ญาติผู้ดูแลด้วย เพราะญาติคือหัวใจหลักในการดูแลผู้ป่วย นักกายภาพบำบัดอาจจะลงไปจัดบริการ และดูแลผู้ป่วย เพียง 1 ชม. แต่อีก 23 ชม.ที่เหลือ ผู้ป่วยต้องอยู่กับญาติ จึงต้องทำให้ญาติเข้าใจการดูแลที่ถูกต้องนั่นเอง 

เปลือกความในใจผู้ใช้บริการ

ด้าน นายธงชัย อายุ 57 ปี อาชีพรับเหมาก่อสร้าง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กลุ่มโรคที่รับบริการกายภาพบำบัดโดยใช้สิทธิบัตรทอง กล่าวว่า ตนมีอาการยืนไม่ตรง เดินเซ ถือแก้วน้ำไม่ได้ จึงรีบไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็เริ่มพูดไม่รู้เรื่องแล้ว รักษาที่โรงพยาบาลนั้นได้ 2 สัปดาห์ก็ย้ายไปโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ เมื่อรักษาเสร็จแล้วก็คิดว่าจะฝึกฝนกล้ามเนื้อให้กลับมาเดินด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ทราบเรื่องการใช้สิทธิบัตรทองในการรับบริการกายภาพบำบัดจากคนรู้จัก จึงใช้สิทธินี้ในการรับบริการ ซึ่งก็ช่วยได้มากในแง่การประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ เนื่องจากหมดเงินกับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนไปกว่า 2 แสนบาท ปัจจุบันเพิ่มรับการทำกายภาพบำบัดเป็นครั้งแรก โดยมีนักกายภาพบำบัดมาช่วยให้คำแนะนำถึงที่บ้าน เช่น ท่าทางการยืนที่ถูกต้อง เป็นต้น

5

“ประหลาดใจเพราะไม่คิดว่าจะมีบริการแบบนี้ ถือว่าบริการนี้มีประโยชน์มาก การไปโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จอดรถก็หายาก”นายธงชัย กล่าว

ด้าน นางยุวรินธร บุบผา ญาติของนายธงชัย กล่าวว่า เมื่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลเอกชนก็ตกใจค่ารักษาพอสมควร เมื่อย้ายไปโรงพยาบาลที่ 2 ก็ยังจ่ายเงินเองแต่ก็มีราคาถูกลง จนช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนออกจากโรงพยาบาลถึงทำเรื่องใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาได้

“รู้สึกกังวลใจมากเพราะตอนผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก็ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กังวลว่าตัวเองจะดูแลได้หรือไม่ จะปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะเราไม่ได้มีความรู้เหมือนนักวิชาการที่ได้รับการอบรมมา ก็ได้แต่ช่วยดู แต่ทำถูกผิดหรือไม่ก็ไม่ทราบ โชคดีที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 แนะนำว่าจะส่งทีมสหวิชาชีพมาเยี่ยมบ้าน และรู้สึกดีใจมากที่สามารถใช้สิทธิบัตรทองในการรับบริการได้มากมาย”นางยุวรินธร กล่าว

นางยุวรินธร กล่าวต่อไปว่า การมีนักกายภาพบำบัดมาช่วยให้คำแนะนำทำให้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้น เพราะอยากให้ผู้ป่วยได้ฟื้นฟูกลับมาใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองเหมือนเดิม การได้รับบริการกายภาพบำบัดถือว่าเป็นบริการที่มีประโยชน์มาก ยิ่งมาให้บริการถึงบ้านยิ่งสะดวก เพราะการเดินทางไปโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องเสียเวลาทั้งวัน ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้ามากในการไปโรงพยาบาล

“ต้องขอขอบคุณ สปสช. และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่จัดให้มีบริการนี้ ประชาชนยังขาดความรู้และต้องการความช่วยเหลืออีกมาก การมีบริการแบบนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประชาชน ขอเป็นกำลังใจและขอให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปอีก”นางยุวรินธร กล่าว