ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เห็นพ้องคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภาเสนอให้ตั้งหน่วยงานดูแลนโยบายทันตกรรม เผยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาตั้ง “กรมทันตกรรมสุขภาพ” ยกระดับการเข้าถึงบริการประชาชนมีสุขภาพฟันดี


น.ส.ไตรศลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ส.ค. 66  ได้รับทราบผลการพิจารณารายงานการศึกษา เรื่อง การขับเคลื่อนเร่งรัดปฏิรูประบบทันตกรรมสาธารณสุขไทยและการเข้าถึงทันตกรรม ของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา และให้แจ้งผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าปัจจุบันงานด้านทันตสาธารณสุขไทยในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังขาดหน่วยงานหลักในการกำหนดนนโยบาย การรักษาด้านทันตกรรม หน่วยงานด้านบุคลากรทั้งระบบ การจัดการทรัพยากร งบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์ หน่วยงานด้านสารสนเทศด้านทันตกรรมระดับประเทศและระหว่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัยทันตกรรม หน่วยงานทันตกรรมในระดับปฐมภูมิ  ทำให้งานยุทธศาสตร์ นโยบายทันตกรรมระดับประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้

เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปฏิรูประบบงานให้ต่อสถานการณ์ปัญหาด้านทันตกรรมของประชาชน จึงเสนอให้ตั้ง "กรมทันตสุขภาพ" แบ่งโครงสร้างออกเป็น 6 กอง ได้แก่ กองสนับสนุนส่งเสริมทันตกรรมสุขภาพ กองพัฒนาบริการรักษาทันตกรรมสุขภาพ กองพัฒนาส่งเสริมคุณภาพบุคลากร กองบริหารอำนวยการด้านทันตกรรมสุขภาพ กองเทคโนโลยี นวัตกรรมและวิจัยด้านทันตกรรม และ กองทันตกรรมสาธารณสุขและปฐมภูมิ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สธ. เป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณา ซึ่งจากการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะ ซึ่งปัจจุบันเผยว่าได้อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาตั้งกรมทันตกรรมสุขภาพตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 50 และตามหลักการและแนวทางของสำนักงาน ก.พ.ร. เรื่องการยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานในสังกัดที่มีอยู่เดิม (One-In, X-Out) โดยได้พิจารณาเป้าหมายสำคัญคือการเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทย

นอกจากนี้ สธ. ได้มีนโยบายสำคัญเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลทันตกรรมคือ นโยบาย 1 ทันตแพทย์ 1 ยูนิตทำฟัน 1 ผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการกำกับทิศทางการพัฒนาระบบบริการ ให้กำหนดเป้าหมายคือทุกกลุ่มวัยไม่มีฟันผุ หรือฟันดีไม่มีผุ และให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ทุกแห่งดำเนินการตามนโยบายนี้ เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากภายในปีงบประมาณ 2566