ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เผยแพร่รายงาน Global Education Monitor 2023 เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2566 ระบุว่า การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟนมากเกินไปในกลุ่มเด็กนักเรียน และนักศึกษา มีส่วนทำให้การเรียนหนังสือมีประสิทธิภาพลดลง และยังส่งผลต่อสมาธิ ความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็กนักเรียน รวมถึงเป็นการเพิ่มการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (cyber bullying) ให้มากขึ้นด้วย

ดังนั้นควรมีการจัดการในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟนในกลุ่มเด็กนักเรียน รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในห้องเรียนที่ต้องมุ่งเน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของเรียนการสอน ไมใช่จากเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่ครู หรืออาจารย์  

ทั้งนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศยังต้องมุ่งเน้นเฝ้าระวังการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างความรอบคอบ เพราะสิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป และเทคโนโลยียังมีบางส่วนที่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้งาน

ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า แน่นอนว่าการปฏิวัติทางเทคโนโลยี หรือทางดิจิทัลจะมีศักยภาพสูง แต่ขณะเดียวกันภาคสังคมในหลายประเทศก็ได้มีการเตือนถึงอันตรายจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนมากไป ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแนวทางการจัดการศึกษาได้

อีกทั้งแม้ว่าเทคโนโลยีจะเปิดกว้างให้กับผู้คนนับพันล้านทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในด้านการศึกษาที่ยังมีเด็กนักเรียนอีกหลายล้านคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ฉะนั้น การใช้งานเทคโนโลยี หรือสมาร์ทโฟนต่างๆ ก็ควรถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์การเรียน หรือช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของทั้งครูและนักเรียน ไม่ใช่การนำมาใช้เพื่อส่งผลเสียต่อพวกเขา 

"ทุกประเทศต้องหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นอันดับแรก และสนับสนุนครู อาจารย์ที่เป็นผู้สอน ลดการใช้โลกออนไลน์เข้ามาสอนแทนการได้เข้าห้องเรียนจริง แม้จะมีความสะดวก แต่มันไม่สามารถทดแทนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนอย่างที่ควรจะเป็นได้" ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าว 

2

จากรายงานของยูเนสโกครั้งนี้ ยังทำให้เห็นภาพอีกว่าที่ผ่านมา จากจำนวน 1 ใน 4 ของระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มมีการใช้นโยบายสั่งห้ามใช้สมาร์ทโฟนในห้องเรียน 

ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ที่เริ่มกำหนดขอบเขตการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เป็นเครื่องมือการสอนหนังสือเอาไว้ที่ 30% จากชั่วโมงการสอนทั้งหมด เพื่อให้นักเรียนพักตัวเองจาก 'หน้าจอ' และมุ่งความสนใจไปกับการเรียนในห้องเรียนแทน หรือที่ฝรั่งเศส ก็เริ่มมีกำหนดการใช้สมาร์ทโฟนในห้องเรียนเช่นกัน 

รวมถึงเนเธอแลนด์ที่ได้วางแผนขับเคลื่อนไปสู่การห้ามใช้มือถือจากห้องเรียนในปี 2567 ซึ่ง รอบเบิร์ต ไดจค์กราฟ (Robbert Dijkgraaf) รัฐมนตรีศึกษาธิการของเนเธอร์แลนด์ ประกาสล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2566 ว่า นักเรียนต้องมีสมาธิและต้องได้รับโอกาสในการเรียนหนังสือให้ดี งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีข้อบ่งชี้ว่าโทรศัพท์มือถือเป็นตัวก่อกวน ดังนั้นเราต้องปกป้องนักเรียนจากสิ่งนี้

แต่อีกด้านอย่างที่สหราชอาณาจักร เกวิน วิลเลียมสัน (Gavin Williamson) อดีตรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อ The Guardian ว่า ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้มีการห้ามใช้มือถือในห้องเรียนตั้งแต่ปี 2564 เพื่อปรามวินัยของนักเรียนในห้องเรียน 

อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกเพิกเฉยโดยสหภาพการศึกษาของสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีมาตรการการอนุญาตเพื่อใช้มือถือ อีกทั้งนโยบายการใช้มือถือในโรงเรียนยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของครูใหญ่ ทว่า ส่วนใหญ่แล้วจะมีการตรวจสอบว่ามือถือปิดอยู่ขณะทำการเรียนการสอน โดยนักเรียนสามารถใช้มือถือได้เมื่ออยู่นอกห้องเรียน หรือได้รับอนุญาตจากครูเท่านั้น ซึ่งหากฝ่าฝืนตามกฎแล้วจะถูกยึดมือถือ 

แนวทางของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการห้ามใช้มือถือในห้องเรียน ที่ต้องมีการอนุญาตสำหรับนักเรียนเป็นเพราะผู้ปกครองอาจต้องการติดต่อในเรื่องที่จำเป็นกับบุตรหลาน หรือระหว่างทางกลับบ้านของนักเรียน รวมถึงนักเรียนบางคนยังใช้มือถือเพื่อใช้จ่ายค่าเดินทางอีกด้วย ทำให้ไม่อาจมีข้อกำหนดถึงขนาด 'แบน' มือถือไปจากโรงเรียนได้ 

อ่านข่าวต้นฉบับ : https://www.theguardian.com/world/2023/jul/26/put-learners-first-unesco-calls-for-global-ban-on-smartphones-in-schools