ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการใช้งานอุปกรณ์เก็บของเสียจากลำไส้ (ทวารเทียม) และการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมโดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมไทย ภายใต้ระบบบัตรทอง ณ รพ.ยะลา-รพ.สงขลานครินทร์-รพ.หาดใหญ่ ชี้ ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมโดยฝีมือคนไทย ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณหลายร้อยล้านบาท พร้อมหนุนให้เป็นนวัตกรรมที่จะถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาลทั่วประเทศ


นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ค. 2566 เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการสนับสนุนอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้ (ทวารเทียม) และระบบบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย สำหรับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลยะลา โดยมี พญ.นิตยา ภูวนานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา และ รศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์-สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล

สำหรับบัญชีนวัตกรรมไทย คือรายการสินค้าหรือบริการที่พัฒนาขึ้นจากกระบวนการวิจัย พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือบริการเดิมด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยคนไทยมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยต้องผ่านการทดสอบรับรองโดยหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้

รศ.นพ.วรวิทย์ เปิดเผยว่า ทวารเทียมถือเป็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นมาหลังจากที่ได้รับทุนการศึกษาวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 5-6 ปี เพื่อการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน และเมื่อการวิจัยเข้าปีที่ 7 ก็ได้เข้าร่วมกลายเป็นหนึ่งในบัญชีนวัตกรรมไทย

1

ทั้งนี้ เดิมทีทวารเทียมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% ผู้ป่วยรายหนึ่งต้องใช้ 5 ชุดต่อเดือน ราคาเฉลี่ยชุดละ 250-300 บาท ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีทวารเทียมในระบบบัตรทองประมาณ 5.4 หมื่นราย ต้องใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายอย่างน้อย 2.72 ชุดต่อปี และถ้าดูผู้ป่วยทุกสิทธิทั่วประเทศจะมีจำนวน 1.5 แสนราย ผู้ป่วยเหล่านี้ถ้าใช้งานอุปกรณ์ใน 1 ปี จะมีค่าใช้จ่าย 2,250 ล้านบาท แต่ทวารเทียมที่ผลิตจากยางพารามีราคาอยู่ที่ 190 บาท หากผู้ป่วยทั้งหมดหันมาใช้งานผลิตภัณฑ์นี้ ใน 1 ปี จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1,710 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ถึง 540 ล้านบาท ถือเป็นการลดงบประมาณและการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการทดลองใช้ไปแล้ว ยังคงมีการติดตามผลและการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการเข้าร่วมประชุมทุกเดือน เพื่อนำปัญหาที่พบเจอไปหาแนวทางพัฒนาต่อไป โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมาย เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราในประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งแนวทางที่จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องความมั่นคงของเครื่องมือแพทย์ไทย

4

 “จุดเด่นของทวารเทียมที่เราผลิตเองคือ ผลิตจากยางพาราที่สามารถกักเก็บของเสียได้ดี เวลาลอกแผ่นกาวออกก็จะไม่เหลือคราบกาวติดผิวหนัง มีพื้นผิวซิลิโคนที่โค้งรับกับหน้าท้องผู้ป่วย ซึ่งในอนาคตต้องมีการต่อยอดและพัฒนา เพื่อให้มีตัวเลือกที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยต่อไป” รศ.นพ.วรวิทย์ กล่าว

นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทวารเทียมเป็นสุดยอดนวัตกรรมของคนไทยถูกพัฒนาและวิจัย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งใช้ยางพาราจากทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต ซึ่งเป็นการผลิตที่ทำให้เหมาะสมต่อคนไทย โดยอ้างอิงความเหมาะสมต่อการใช้งานจากสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศในประเทศ หลังจากการผลิต สปสช. ก็ได้มีการเข้ามารับซื้อ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้ใช้ทวารเทียมจากนวัตกรรมไทยอย่างทั่วถึงและไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย

2

“ทวารเทียมเป็นสิ่งของที่มีมาตรฐานทั้งจากการตรวจสอบจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานของบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งมีมาตรฐานที่สูง อุปกรณ์ที่ได้ใช้มีมาตรฐานอย่างแน่นอน” นพ.สุวิทย์ ระบุ

นอกจากทวารเทียมแล้ว สปสช. ยังมีการสนับสนุนให้มีการใช้รากฟันเทียมที่ผลิตจากฝีมือคนไทย ซึ่งจากการดูงานในวันนี้พบว่า การผ่าตัดฝังรากฟันเทียมมีการพัฒนาไปมาก ประชาชนผู้ที่ฟันร่วงจนหมดปากและกำลังใส่ฟันปลอมอยู่ พบปัญหาฟันปลอมไม่ติดแน่นก็สามารถไปที่โรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิบัตรทองเพื่อขอรับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ขณะที่ น.ส. ฮัฟเสาะห์ กาเดร์ อายุ 38 ปี ผู้ดูแลมารดาซึ่งเป็นผู้ป่วยติดบ้านวัย 78 ปี เปิดเผยถึงรายละเอียดที่ผู้เป็นแม่ได้ใช้ทวารเทียมว่า มารดาของตนเองได้ใช้ทวารเทียมครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ช่วงแรกที่แพทย์แจ้งว่าต้องใช้ทวารเทียมก็กลัวว่าจะมีขั้นตอนการใช้ที่ยุ่งยาก แต่หลังจากใช้ทวารเทียมก็มีความสะดวกสบาย สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ อีกทั้งอุปกรณ์ยังทำความสะอาดได้ง่าย และไม่มีกลิ่นตกค้าง สามารถขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจากสิทธิบัตรทองได้ ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งวิธีการใช้งานมีเจ้าหน้าที่สอนการใช้งานอย่างละเอียดอีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุนสิ่งดีๆ เหล่านี้ต่อไป

5

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สปสช. ให้ความสำคัญกับการใช้งานผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมเป็นอย่างมาก หากมีรายการจัดซื้อ หรืออนุมัติสิทธิประโยชน์ใดที่มีผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรมก็จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นั้นก่อน เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มโอกาสของผู้ผลิตให้สามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ

4

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการเยี่ยมชมการใช้ผลิตภัณฑ์จากบัญชีนวัตกรรม 2 ชิ้น คือ ชุดอุปกรณ์ใช้เก็บของเสียจากลำไส้และรากฟันเทียม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานและนำคำแนะนำที่ได้สะท้อนกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตอบโจทย์การใช้งานมากยิ่งขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1. สายด่วน สปสช. 1330 
2. ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw