ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลากหลายความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจากงานเสวนา “2 ปี มะเร็งรักษาทุกที่ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จถ้วนหน้า” ถึงผลลัพธ์การดำเนินนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere)

1

“นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ หรือ Cancer Anywhere ความหมายคืออย่าให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากการส่งต่อ ยิ่งคนที่ไม่มีรถส่วนตัว เวลามาโรงพยาบาลต้องเหมารถมา แต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท ซึ่งหลังจากมีโครงการนี้ ก็เปลี่ยนจากระบบใบส่งตัวมาเป็นระบบ cancer nurse coordinator คือให้โรงพยาบาลติดต่อระหว่างกันเอง ไม่เป็นภาระของคนไข้หรือญาติอีกต่อไป”

นพ.ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขามะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข 

2

“ประโยชน์ที่ชัดเจนของนโยบายนี้ คือที่ผ่านมาเวลามีคนไข้จากต่างภูมิลำเนามารักษาที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อวินิจฉัยโรคแล้วต้องแนะนำให้คนไข้กลับไปขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นทางก่อน ทำให้การเข้าถึงการรักษาช้า แต่เมื่อมีนโยบายนี้ก็ทำให้สามารถรักษาต่อเนื่องได้เลยโดยไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว”

นพ.ศุภกร พิทักษ์การกุล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ 

3

“ในเชิงวิชาการแล้วนโยบายนี้ไม่มีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายพอใจที่ผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของนโยบายนี้คืออยากลดระยะเวลารอคอยในหน่วยบริการที่คิวยาว ไปสู่หน่วยบริการที่คิวสั้น ช่วยผู้ป่วยที่รักษาข้ามเขตไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ในส่วนของสมาคมฯ เห็นด้วยกับนโยบายนี้”

พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้แทนสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย 

2

“โครงการ Cancer Anywhere ดีมากในแง่ของการลดขั้นตอนทางธุรการไปได้มาก อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ศัลยแพทย์มะเร็งในไทยมีแค่ประมาณ 100 กว่าคน และศักยภาพการผลิตมีแค่ 8 คน/ปี ดังนั้นกำลังหลักที่ดูแลผู้ป่วยในปัจจุบันก็คือแพทย์ผ่าตัดทั่วไป ซึ่งก็มีศักยภาพระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือการรอผลการตรวจวินิจฉัย ซึ่งในประเทศไทยมีระยะเวลารอผลประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยรวมแล้ว ถ้าใช้ศักยภาพของแพทย์ผ่าตัดทั่วไป บวกกับกำหนดระยะเวลาวินิจฉัยโรคให้ได้ตามแผน ก็ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของคนไข้ได้ระดับหนึ่งแล้ว และถ้าพยายามสร้างการรับรู้ให้คนไข้มารับการตรวจเมื่อเริ่มเป็นมะเร็งระยะแรกๆ ก็จะเพิ่มอัตราการรักษาหายมากขึ้น”

พล.ท.รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ ประธานชมรมศัลยแพทย์มะเร็งประเทศไทย 

3

“ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่ต้องการการรักษา จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้ชีวิตเพียงพอแล้ว เข้าใจสัจธรรม และเลือกที่จะรับการดูแลระยะสุดท้ายเพื่อเสียชีวิตอย่างสงบที่บ้าน และผู้ป่วยแบบนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี รวมทั้งมีบางส่วนที่เข้ารับการรักษาแล้วทนความเจ็บปวดไม่ไหว ก็ร้องขอบริการ palliative care ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้ามีโอกาสให้คำปรึกษาแนะนำกับครอบครัวตั้งแต่ทราบผลการวินิจฉัย นำเสนอคุณภาพชีวิตและการอยู่กับมะเร็งอย่างสันติ เชื่อว่าจะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เลือกสิ่งนี้ทันที และจะช่วยจำนวนคนไข้ในระบบลงได้”

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง และชีวาภิบาล (เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม)