ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผยผลสำรวจความคิดเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) จากผู้เข้าร่วมงาน Thailand Healthcare 2023 : เกษียณสโมสร พบว่ากว่า 95.8% รู้จักสิทธิบัตรทองและให้คะแนนความพึงพอใจในภาพรวม 10 เต็ม 10 


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจการรับรู้สิทธิ หน้าที่ และความคิดเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากผู้เข้าร่วมงานมหกรรมสุขภาพ Thailand Healthcare 2023 : เกษียณสโมสร ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.- 2 ก.ค. 2566 จำนวน 400 คน พบว่าผลคะแนนความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ 10 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและพึงพอใจต่อระบบ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 95.8% รู้จักสิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท และทราบว่า สปสช. คือหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในจำนวนผู้ที่ตอบแบบสอบถามเป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง 74.8% และใช้บริการสายด่วน สปสช. 1330 ในการติดต่อ ตรวจสอบสิทธิ หรือร้องเรียน/ร้องทุกข์ถึง 73.3% อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ไม่ทราบช่องทางติดต่ออยู่ 12.3%

ขณะที่ผลสำรวจการรับรู้สิทธิและหน้าที่ของผู้มีสิทธิบัตรทอง ผู้ตอบแบบสอบถาม 56% ทราบว่าเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำได้ 4 ครั้งต่อปี ทราบว่าย้ายสถานพยาบาล/หน่วยบริการประจำแล้วได้สิทธิทันที 58.3% ทราบว่าต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนทุกครั้ง เพื่อยืนยันการใช้สิทธิบัตรทองรับบริการ 79.8% ทราบว่ามีสิทธิรับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ เช่น ฉีดวัคซีนในเด็ก ฝากครรภ์คุมกำเนิดตรวจเบาหวาน/ความดันโลหิต ตรวจมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง 69.5% ทราบว่ามีสิทธิรับบริการแพทย์แผนไทย เช่น ยาสมุนไพร นวด อบ ประคบสมุนไพรเพื่อการรักษา 33% และทราบว่ามีสิทธิตรวจคัดกรองและรักษาโรคโควิด-19 58.8%

ในส่วนของกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีผู้ทราบว่าสามารถไปรักษาที่ใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด ทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการบัตรทอง 70.8% และทราบว่ากรณีมีความจำเป็น เช่น เจ็บป่วยระหว่างเดินทาง เจ็บป่วยขณะที่อยู่ไกลจากสถานพยาบาลตามสิทธิ สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการในระบบบัตรทอง แม้ไม่ใช่สถานพยาบาลตามสิทธิ 63.7% ทราบว่ากรณีมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลไม่ใช่สถานพยาบาลตามสิทธิ ผู้ป่วยสามารถรักษาแบบผู้ป่วยในได้โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว 53.8% รวมทั้งทราบว่ามีสิทธิรับบริการทางไกล พบหมอผ่าน Telemedicine 51.5%

ในส่วนของโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ตอบแบบสอบถาม 54.5% ทราบว่ามีสิทธิรักษาโรคที่ต้องผ่าตัดและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้ เช่น การรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายแสง/ทำคีโมหรือยาเคมีบำบัด ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดหัวใจ และรักษาโรคไตวาย และทราบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ 41.8% และมีอีก 44% ที่ทราบว่าผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ช่วยตัวเองไม่ได้ มีสิทธิได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่บ้าน รวมทั้งทราบว่าผู้สูงอายุ/ผู้พิการที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่ได้ มีสิทธิรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่/แผ่นรองซับ/แผ่นเสริมฯ 39%

ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 40.8% ยังทราบด้วยว่าหากได้รับความเสียหายจากการรักษา สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ และทราบว่าเมื่อได้รับความไม่สะดวก หรือไม่ได้รับบริการตามสิทธิ หรือถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บหรือต้องจ่ายเพิ่มเติมในการใช้สิทธิที่ได้รับ ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ 53.5% 

นอกจากนี้ ในข้อสอบถามเกี่ยวกับประเด็นการได้รับข้อมูลบัตรทองจากสื่อประชาสัมพันธ์แพล็ตฟอร์มต่างๆ ผู้ตอบแบบสอบถาม 55.3% รู้จักและเคยใช้บริการสายด่วน สปสช. 1330 และมีอีก 24% ที่รู้แต่ไม่ได้ใช้บริการ ส่วนเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th มีผู้ที่รู้และเคยใช้บริการ 43.3% ส่วนผู้ที่รู้แต่ไม่ได้ใช้บริการ มีสัดส่วน 20.5% แต่ยังมีผู้ที่ไม่รู้จักอีกประมาณ 18.5%

ขณะที่ช่องทางเฟซบุ๊ก สปสช. มีผู้ที่รู้จักและเคยใช้บริการ 37.5% รู้จักแต่ไม่ได้ใช้บริการ 21% และยังมีผู้ไม่รู้จักช่องทางนี้อีก 23.5% ส่วน Line Official Account สปสช. มีผู้รู้จักและใช้บริการ 45.3% รู้จักแต่ไม่ได้ใช้บริการ อีก 14.2% ส่วนผู้ที่ไม่รู้จักมีประมาณ 20.5%

ทั้งนี้ ช่องทางประชาสัมพันธ์ของ สปสช. ที่ประชาชนมีการรับรู้น้อย คือช่องทาง TIKTOK มีผู้รู้จักและใช้บริการ เพียง 17.5% และช่องทาง Twitter มีผู้รู้จัก 13% ส่วนช่องทาง Youtube สัดส่วนดีขึ้นเล็กน้อยคือรู้จักและเคยได้รับข้อมูล 25.3% และ แอปพลิเคชัน สปสช. มีผู้ที่รู้จักและใช้บริการ 26.8% ส่วนอีก 19% รู้จักแต่ไม่ได้ใช้บริการ

ขณะที่การรับรู้ผ่านสื่อสารมวลชน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามรู้จักและได้รับข้อมูลบัตรทองผ่านสื่อโทรทัศน์ 42% ผ่านสื่อวิทยุ 31.5% และผ่านคู่มือ/หนังสือ/แผ่นพับ/โปสเตอร์/สื่อสิ่งพิมพ์ อีก 37.3%