ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 - นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสวนาภายใต้หัวข้อ “10 ปี สปสช. 15 ปี ประกันสังคม กับวงการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 31 สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย” ร่วมกับ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม โดยมี พล.อ.นพ.ถนอม สุภาพร นายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ โฟร์วิงส์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ในการเสวนาได้ระบุถึงการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทย ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 47 ปีที่แล้ว ขณะที่สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะได้ครบรอบการจัดตั้งเป็นปีที่ 31 ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งการปลูกถ่ายไต การปลูกถ่ายตับ และการปลูกถ่ายหัวใจ ได้มีการพัฒนาในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐาน จนทำให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชีย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะการมีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยก้าวต่อไปของการปลูกถ่ายอวัยวะ คือการเชื่อมโยงระบบการดูแลผู้ป่วย การพัฒนาหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการรณรงค์ประชาชนร่วมปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น

สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2562 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายการปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยจำนวน 172 ราย การปลูกถ่ายตับในเด็กกรณีท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด จำนวน 24 ราย และการปลูกถ่ายหัวใจ จำนวน 15 ราย