ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จัดประชุมเพิ่มประสิทธิภาพระบบส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการ ‘สถานพยาบาลอื่นตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควร’ พร้อมเปิดข้อมูลราว 3 เดือน จาก 17 รพ.เอกชน เข้าร่วม รับส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลแล้ว 3,368 ราย สะท้อนถึงศักยภาพความร่วม รพ.เอกชน ช่วยหนุนเสริมดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองใน กทม.  


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัด “การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประสานส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ครั้งที่ 1/2566” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 โดยมี น.ส.ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วยตัวแทนโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ตลอดจนตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลอื่นตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จำนวน 130 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สายด่วน สปสช. 1330 และเจ้าหน้าที่ สปสช. เขต 13 กทม. ที่ทำการประสานส่งต่อผู้ป่วย    

2

1

นางสาวดวงนภา กล่าวว่า แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะครอบคลุมการดูแลคนไทยทั้งประเทศแล้ว แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วยจำนวนประชากรในพื้นที่ซึ่งหนาแน่ ประกอบด้วยประชากรในพื้นที่ และประชากรแฝง หน่วยบริการที่มีจำนวนจำกัด หน่วยบริการที่ปิดเครือข่ายบริการ และหน่วยบริการปฐมภูมิใหม่ที่ยังไม่สามารถจัดหาหน่วยบริการรับส่งต่อได้ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในพื้นที่

ดังนั้น สปสช. จึงเร่งแก้ไขปัญหา นอกจาก สปสช. เขต 13 กทม. ที่ประสานโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบบัตรทอง เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรแล้ว เพื่อดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสำหรับกรณีเกินศักยภาพการรักษาของหน่วยบริการ หรือที่มีเหตุสมควร พร้อมมอบให้ สายด่วน สปสช.1330 ทำหน้าที่ประสานส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรในกรณีที่เกิดปัญหาการส่งต่อด้วย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา

2

“การประชุมวันนี้เป็นเวทีของการทบทวน มีทั้งตัวแทนโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ส่งต่อผู้ป่วย และตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมเป็นสถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรซึ่ง สปสช. ได้รับฟังความเห็น และทำการรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไขให้ระบบเดินหน้า ดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการตามสิทธิได้อย่างทั่วถึง” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นางบุญสิงห์ มีมะโน ผู้จัดการกอง สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า จากข้อมูล สปสช. ณ วันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในพื้นที่ กทม. มีหน่วยบริการที่ร่วมดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองทั้งสิ้น 1,300 แห่ง แยกเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 360 แห่ง หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน 894 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อทุติยภูมิและตติยภูมิ 46 แห่ง ที่ผ่านมาได้เพิ่มเติมสถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรโดยมีโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลสมัครเข้าร่วม 17 แห่ง ทำให้ขยายจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยบัตรทองเพิ่ม 500 เตียง 

2

4

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรแล้ว จำนวน 3,368 ราย แยกเป็นบริกาผู้ป่วยนอก 2,739 ราย และผู้ป่วยใน 629 ราย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วม ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วยบัตรทองที่อยู่ใน กทม. และปริมณฑลได้  

“หลักเกณฑ์ในการส่งต่อสถานพยาบาลตามมาตรา 7 กรณีเหตุสมควรนี้ ย้ำว่าผู้ป่วยไม่สามารถ Walk in ได้เอง แต่ต้องเป็นการพิจารณาและส่งต่อจากโรงพยาบาลในระบบบัตรทองเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยเอง รวมถึงให้ประสานกับสถานพยาบาลตามมาตรา 7 ก่อนว่า จะรับดูแลผู้ป่วยหรือไม่ โดยหน่วยบริการต้นทางจะต้องบันทึกการส่งต่อผู้ป่วยใน Google Forms หรือโทรแจ้งผ่านสายด่วน 1330 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่รับเรื่องให้ ถือเป็นความร่วมมือ สปสช. และโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองใน กทม. เข้าถึงบริการผู้จัดการกอง สปสช.เขต 13 กทม. กล่าว

4

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1. สายด่วน สปสช. 1330 
2. ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw