ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์กรส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพระดับโลก ซึ่งคุ้นกันในชื่อ PATH ได้เสนอแนวทางเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตในประชากรทุกวัย ด้วยการลดการตีตรา บูรณาการบริการสุขภาพจิตเข้าสู่แพทย์ปฐมภูมิ สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ดูแลผู้ให้บริการและผู้ดูแล สร้างฐานข้อมูลผู้ป่วย และรับฟังเสียงจากเยาวชน 

เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ทีผ่านมา PATH ได้จัดเวทีระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เพื่อหาแนวทางเพิ่มการเข้าบริการดูแลสุขภาพจิต โดยอ้างอิงถึงสถานการณ์โลกที่บริการด้านนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในหลายประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นบริการที่มีความต้องการจากผู้ป่วยอย่างมาก

สอดคล้องกับความเห็นของ นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่แห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งออกมาให้ความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การดูแลสุขภาพจิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาพทางร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดี 

แต่ระบบสุขภาพยังต้องการมีการขับเคลื่อนบริการด้านนี้ให้มากกว่านี้ รวมทั้งต้องเปลี่ยนทัศนคติของสังคม มีปฏิบัติการและแนวทางที่เพิ่มการเข้าถึงบริการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดบริการสุขภาพจิตที่เข้าถึงได้สะดวก 

ในส่วนของ PATH ได้เเสนอ 6 แนวทางเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต ซึ่งมาจากการรวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเวทีระดมสมอง ดังนี้ 

2

1. ขจัดการตีตรา 

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมักถูกสังคมตีตรา จนไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ซาร่าห์ ไคลน์ (Sarah Kline) ซีอีโอแห่ง United for Global Mental Health กล่าวว่า ในทุกวัฒนธรรมมักมีคำเรียกตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษา และการพูดถึงปัญหาด้านนี้อย่างเปิดเผย 

การตีตรายังก่อให้เกิดการเพิกเฉยต่อปัญหาสุขภาพจิต ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่จัดสรรทรัพยากรสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพจิต 

ในกรณีของ นพ.พอล บอลตัน (Paul Bolton) ผู้ประสานงานด้านการสนับสนุนงานสุขภาพจิตและจิตเวช ประจำหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเคยเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิต เล่าว่าเขาต้องขับรถไปยังเมืองอื่นๆ นอกเขตที่อยู่อาศัยเพื่อเข้ารับการรักษา เพราะกลัวว่าเพื่อนร่วมงานจะรู้

2. บูรณาการในบริการปฐมภูมิ 

การดูแลรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตควรบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริการแพทย์ปฐมภูมิ เพื่อทำให้บริการด้านนี้เข้าถึงได้ง่าย และสามารถเบิกค่ารักษาจากประกันได้ การจะบูรณาการได้สำเร็จ รัฐบาลต้องเริ่มจัดสรรงบประมาณจัดบริการด้านนี้ก่อน

พญ.คิมเบอร์รี กรีน (Kimberly Green) ผู้อำนวยการฝ่ายปฐมภูมิของ PATH กล่าวว่า งบประมาณเป็นตัวแปรสำคัญ เห็นได้จากกรณีของบราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย และไทย ที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้บริการด้านสุขภาพจิต ทำให้การให้และรับบริการเป็นเรื่องปกติ ลดการตีตรา และเข้าถึงง่าย

3. สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย 

การยกระดับบริการสุขภาพจิต จะมีประสิทธิผลเมื่อมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการรับฟังประสบการณ์จากผู้มีความรู้ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการสร้างธรรมาภิบาล การพัฒนานโยบาย และการออกแบบบริการ

นพ.แดน คริสโฮล์ม (Dan Chisholm) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ประจำองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า งานด้านสุขภาพจิตไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องอาศัยเครือข่ายชุมชนและผู้ให้บริการในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ 

นอกจากนี้ การออกแบบบริการยังต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วย เช่น ความต้องการของผู้ป่วยในประเทศรายได้น้อยย่อมแตกต่างจากประเทศรายได้สูง

2

4. สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และผู้ดูแล

ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากได้รับผลกระทบจากการทำงาน เช่นในกรณีของพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 32% 

พญ.กรีน แห่งองค์กร PATH ให้ความเห็นว่าบุคลากรการแพทย์จำนวนมากต่างหมดไฟ ซึมเศร้า มีภาวะกังวล หรือฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากการทำงาน จึงจำเป็นต้องมีนโยบายและการอบรมที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถรับมือปัญหาทางสุขภาพจิตได้ 

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่สนับสนุนผู้ดูแล เช่น สมาชิกในครอบครัว และผู้ปกครอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของคนในครอบครัว มีการศึกษาในประเทศยูกันดาที่ยืนยันว่า สุขภาพจิตที่ดีของแม่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและการได้รับสารอาหารของลูก 

5. เพิ่มการลงทุนยกระดับการเข้าถึงบริการและจัดทำฐานข้อมูล 

การศึกษาหนึ่งชี้ว่า ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบต่อประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนในโลก แต่ 70% ของคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิต

สาเหตุหนึ่งมาจากการขาดฐานข้อมูลของผู้ป่วย ทำให้ไม่เห็นภาพปัญหาตามความเป็นจริง ขณะที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านงบประมาณไม่เห็นความจำเป็นของการลุงทุนในด้านนี้ การตีตราจึงดำรงอยู่ 

หากมีการปรับปรุงการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยแล้ว จะสามารถทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจจัดสรรทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจัดบริการสุขภาพจิต การอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการ

6. รับฟังเสียงเยาวชน

ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้กับทุกคน รวมทั้งเยาวชนซึ่งประสบปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น การนำเยาวชนเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง 

ยกตัวอย่างเช่น สมาคมสุขภาพจิตเยาวชนนานาชาติ (International Association for Youth Mental Health) นำกระบวนการรับฟังความเห็นจากเยาวชนเข้ามาออกแบบข้อเสนอแก้ไขปัญหาเพื่อประกอบการออกแบบนโยบาย

โอลูวาเฟรานมิ โอมิโทยิน (Oluwaferanmi Omitoyin) รองประธานสมาคม กล่าวว่า มีนโยบายจำนวนมากที่ทำมาเพื่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของเยาวชน แต่กลับไม่มีตัวแทนเยาวชนในระหว่างการออกแบบนโยบาย ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนได้อย่างแท้จริง 

อ่านบทความฉบับเต็ม:
https://www.path.org/articles/six-ways-to-advance-mental-health-care-for-all/