ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคือ ‘งานวิจัย’ ที่เป็นผลเชิงรูปธรรม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ให้กับคนทั้งประเทศได้ 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คือหนึ่งองค์กรที่สนับสนุนให้นักวิจัยเครือข่าย ได้ทำงานวิจัยทั้งเป็นเอกสารตีพิมพ์ทางวิชาการ นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เกิดจากการวิจัย 

ท่ามกลางสถานการณ์ภัยสุขภาพคุกคาม โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรง สวรส. ในฐานะคลังความรู้ได้ใช้ ‘งานวิจัย’ เป็นอาวุธในการสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรค เกิดเป็นงานวิจัยที่นำไปประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย

มากไปกว่านั้น สวรส. ภายใต้การนำของ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ซึ่งกำลังจะหมดวาระการบริหารลงในเดือน ก.ค. นี้ พบว่า สวรส. ได้ก้าวขึ้นแท่นสู่การเป็น ‘ความหวังแห่งอนาคต’ ด้วยการบุกเบิก ‘การแพทย์จีโนมิกส์’ หรือที่หลายคนคุ้นชินกันในชื่อเรียก ‘การแพทย์แม่นยำ’

การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วย โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิต ที่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละคนมาประกอบในการวินิจฉัย และเลือกการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

ว่ากันว่า การแพทย์จีโนมิกส์ จะเข้ามาพลิกโฉมภูมิทัศน์การรักษาพยาบาลให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ระยะเวลา 5 ปี บนเก้าอี้ผู้บริหารองค์กรคลังสมองของชาติ เกิดเป็นดอกผลที่ยังประโยชน์แก่สาธารณชนเป็นจำนวนมาก “The Coverage” ขออนุญาตพาทุกท่านจิบกาแฟ และพูดคุยกับ ‘นพ.นพพร’ ถึงทิศทางการวิจัยเพื่อระบบสาธารณสุขในวันข้างหน้า และผลึกคิดจากการทำงานกับ สวรส. ในช่วงที่ผ่านมา 

1

Small but Beautiful

นพ.นพพร ย้อนหลังไปถึงวันที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง ผอ.สวรส. เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2561 โดยยอมรับว่า รู้สึกตกใจเมื่อเห็นงบประมาณของ สวรส. ในหลักร้อยล้านบาท ซึ่งแตกต่างจากหน่วยงาน-องค์กรอื่นๆ ที่เขาเคยมีประสบการณ์บริหารมารวมไม่ต่ำกว่า 30 ปี เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งมีงบประมาณในระดับ ‘พันล้าน’

“แรกทีเดียวก็ตกใจ เพราะงบประมาณของ สวรส.น้อยมาก เมื่อเทียบกับสมัยที่เป็น ผอ.องค์การเภสัชฯ”

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะยังมีสิ่งที่ทำให้ นพ.นพพร ตกใจซ้ำสอง เมื่อได้เข้ามาเริ่มต้นบริหารงานแล้ว นั่นเพราะ สวรส. เป็นองค์กรที่มีบุคลากรน้อย แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งก็พบว่า นี่คือ ‘Small but Beautiful’ องค์กรที่จิ๋วแต่แจ๋ว มีสมรรถนะสูง 

"บุคลากรของ สวรส. รู้ถึงระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างดี และรู้ถึงโจทย์ความต้องการของประเทศที่อยากให้มีงานวิจัยมาสนับสนุน พวกเขามีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยที่ชัดเจน และดำเนินการอย่างดีมาโดยตลอด ซึ่งดีมาก่อนที่ผมจะเข้ามาด้วย" นพ.นพพร เล่าถึงช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน 

ผลงานและสิ่งที่ยังคาใจ

ตลอดระยะเวลา 5 ปี ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สวรส. ‘นพ.นพพร’ ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ถึง 2 ปีเต็มเป็นอย่างน้อย นั่นทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับภารกิจเฉพาะหน้า นั่นหมายความว่า ภารกิจตามแผนงานใหญ่ที่ นพ.นพพร วางเอาไว้นั้น ย่อมได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สวรส. มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้ดีขึ้นในหลากหลายประเด็น ทั้งการวิจัยการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) การปฏิรูประบบสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านการเงินการคลัง การพัฒนาระบบฐานข้อมูลผ่านการวิจัย และการวิจัยเพื่อยกระดับและพัฒนาการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ 

"อีกอย่างที่ผมเข้ามาและขับเคลื่อนอย่างจริงจัง คือการผลักดันให้เกิดการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย ที่เป็นการแพทย์แม่นยำและเป็นอนาคตของการรักษาโรค วันนี้จีโนมิกส์ประเทศไทยตั้งไข่ขึ้นมาแล้ว มีองค์กรและมีการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์

“ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของคนไทยที่ตั้งเป้าไว้ 5 หมื่นคน วันนี้เดินหน้าเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยได้แล้วกว่า 1 หมื่นราย ที่สำคัญคือเกิดความร่วมมือด้านการวิจัยการแพทย์จีโนมิกส์กับต่างประเทศ ซึ่งจีโนมิกส์ประเทศไทยที่ สวรส. ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งไข่ให้เกิดขึ้น ก็กำลังเดินหน้าอย่างเป็นระบบ" ผู้อำนวยการ สวรส. สะท้อน 

มากกว่า 571 เรื่อง คือจำนวนงานวิจัยที่ สวรส. ให้การสนับสนุนในยุคของ นพ.นพพร เพื่อที่จะส่งเสริมให้นำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะกับการผลักดันเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ซึ่งแน่นอน มีทั้งสำเร็จบ้าง ต้องวิจัยต่อยอดบ้าง และก็ล้มเหลวบ้าง

“สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามทำ แต่ก็ไม่สำเร็จ คือการวิจัยเพื่อทำ ‘หน่วยบริหารจัดการกลาง’ เรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเมื่อมีงานวิจัยออกมา ก็มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและคัดค้าน ที่น่าเสียใจคือเกิดการเข้าใจกันไปว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการดึงอำนาจในการเบิกจ่ายให้กับสิทธิบัตรทองมาควบคุมเอง”

อีกภารกิจที่ นพ.นพพร มองว่าทำไม่สำเร็จ คือการผลักดันให้เกิดการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ‘แบบใหม่’

“แต่เดิมงบประมาณสำหรับการวิจัยจะถูกตั้งเอาไว้ล่วงหน้า และค่อยพิจารณาจะสนับสนุนงานวิจัยใดบ้าง ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าต่อการวิจัย และอาจไม่ทันต่อสถานการณ์ หรือกลายเป็นงานวิจัยที่ไม่จำเป็นไปแล้ว โดยรูปแบบใหม่ที่พยายามผลักดันให้มีการตั้งงบประมาณที่พร้อมสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ และมีแบบงบประมาณที่เป็นลักษณะการสนับสนุนต่อเนื่องด้วย แต่ก็ผลักดันไม่สำเร็จ”

นพ.นพพร อธิบายเพิ่มว่า เพราะช่วงที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้งานวิจัยต้องพุ่งเป้าหมายไปสนับสนุนเรื่องนั้น จึงส่งผลต่อการผลักดันงานในมิติอื่นๆ 

แต่กระนั้น โควิด 19 ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่วัดฝีมือการวิจัยของนักวิจัยไทย ว่ามีประสิทธิภาพดีอย่างมากด้วย ทั้งวิจัยการใช้วัคซีน การวิจัยเพื่อหานวัตกรรมในการกักกัน หรือแยกผู้ติดเชื้อ 

2

อนาคตกับโจทย์งานวิจัย

นพ.นพพร บอกว่า หลักการของระบบสุขภาพคือ ต้องเกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และต้องเป็นระบบสุขภาพที่ยั่งยืน การสนับสนุนงานวิจัยในระบบสุขภาพของ สวรส. จะยึดโยงกับหลักการนี้ 

แต่ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มโจทย์การวิจัยที่จำเป็นต่อสถานการณ์สุขภาพในช่วงเวลานั้นๆ หรือปรับปรุงระบบการเงินการคลังที่จำเป็น เพื่อให้เกิดการทำงานที่ราบรื่นมากขึ้น เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนให้กับบุคลากรแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยได้รวดเร็ว หายได้เร็วและทำให้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น แพทย์ที่รักษาก็ควรได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น 

หรือการจัดซื้อยา ที่ สวรส.ใช้งานวิจัยเข้าไปหนุนเสริมทำให้หลายองค์กรที่ต้องจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชน ทำให้หน่วยงานที่ต้องจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชนสามารถใช้งานวิจัยเพื่อนำไปกำหนดทิศทางนโยบายด้านยาในประเทศได้ และยังช่วยประหยัดงบประมาณในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน 

สิ่งที่ท้าทายในอนาคตสำหรับการวิจัยเพื่อระบบสุขภาพของประเทศ นพ.นพพร มองว่า โจทย์ของงานวิจัยจะมีอยู่ 2 รูปแบบที่นักวิจัยจะต้องให้ความสำคัญ คือ 1. งานวิจัยที่ต้องการทำหรือต้องการเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุน 2. งานวิจัยที่ต้องเฉพาะเจาะจง หรืองานวิจัยในเชิงการคิดนอกกรอบเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพ ที่สามารถตอบโจทย์ช่วยให้การบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม 

ขณะเดียวกัน การสนับสนุนงบประมาณสำหรับการทำการวิจัย หน่วยงาน หรือองค์กรที่สนับสนุน รวมทั้งสวรส.เองก็เช่นกัน จะต้องมีการวางระบบในการสนับสนุนงานวิจัยที่จำแนกประเภทให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการควบคุมค่าใช้จ่าย และงบประมาณด้านการวิจัยได้ 

"โจทย์สำหรับงานวิจัยในวันข้างหน้า ยังต้องพุ่งมาเรื่องของผู้สูงอายุ รวมไปถึงระบบสุขภาพสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องได้รับการดูแล และได้รับบริการสุขภาพที่ตอบสนองพวกเขาได้เช่นกัน รวมไปถึงการวิจัยเชิงระบบที่ต้องเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการพัฒนาระบบบริการที่ต้องเชื่อมโยงไปหาทุกมิติในสังคม ไม่ใช่แค่การวิจัยเพื่อระบบสุขภาพอย่างเดียวแล้ว แต่นักวิจัยต้องมองถึงมิติผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพ ที่เป็นมิติซึ่งเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกัน" นพ.นพพร ย้ำ 

ดังนั้น นพ.นพพร จึงมองว่า นักวิจัยจะต้องมีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน และไม่จำกัดเฉพาะในวงนักวิชาการ บุคลากรการแพทย์ แต่ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคม หรือแม้แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ต้องหันมามอง และทำงานวิจัยด้วยเช่นกัน เพราะระบบสุขภาพเกี่ยวข้องกับกทุกคน และเชื่อมโยงในทุกมิติของสังคม

ต้องมีงบสำหรับตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน

หากถามว่า งานวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศไทยที่ผ่านมามีความคุ้มค่ามากแค่ไหน ยิ่งกับงบประมาณที่ลงไปสนับสนุนให้เกิดการวิจัย ดอกผลความสำเร็จจับต้องกันอย่างไร 

นพ.นพพร ให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า การทำงานวิจัยในประเทศไทยถูกจำกัดด้วยงบประมาณ และ สวรส.เองก็ไม่ใช่หน่วยงานที่ต้องไปทำงานวิจัย แต่เป็นหน่วยงงานที่สนับสนุนงานวิจัย รวมไปถึงทำงานกับภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดนวัตกรรม เกิดเทคโนโลยี หรือเอกสารทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ เพื่อให้งานวิจัยทั้งหมดเข้ามาช่วยพัฒนาระบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศ 

ฉะนั้น หากเทียบความคุ้มค่าเป็นตัวเลข หรือเม็ดเงินผลกำไร สวรส. คงตอบเรื่องนี้ไม่ได้ 

"แต่ สวรส.บอกได้ว่าระบบสุขภาพจะดีขึ้นอย่างไรผ่านงานวิจัย เช่น การวิจัยที่ทำให้แพทย์ลดภาระงานลงได้ ขณะที่ประชาชนมีอายุยืนขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้เราตอบผู้กำหนดนโยบาย หรือรัฐบาล และประชาชนได้ หรือแม้แต่งานวิจัยที่เป็นโอกาสให้เกิดการแข่งขันทางการค้า หรือการพาณิชย์ สวรส. ก็พร้อมจะสนับสนุนให้เกิดมูลค่าขึ้นมาด้วยเช่นกัน 

“การสนับสนุนการวิจัยของ สวรส. จะมียูนิตย่อยภายใน ที่จะสนับสนุนงานวิจัยในแต่ละด้านอย่างจำเพาะเจาะจง ทั้งการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ การวิจัยเพื่อสะสมองค์ความรู้ รวมไปถึงสนับสนุนการวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีตอนปลาย เพื่อให้เทคโนโลยีนั้น หรือนวัตกรรมนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะได้เลย” ผอ.สวรวส. กล่าว 

หมายเลข 1 ของ สวรส. สะท้อนด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิจัยเก่ง แต่มีจำนวนน้อย ดังนั้นจึงต้องเกิดการทำงานร่วมกันกับเครือยข่ายในลักษณะพันธมิตร โดยเฉพาะกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้ผลิตงานวิจัย และขณะเดียวกันก็ผลิตนักวิจัยที่สามารถทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ และเข้าใจถึงระบบสุขภาพที่่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ด้วย 

ในส่วนของนักวิจัยในขณะนี้ ก็ต้องมองให้กว้างมากขึ้นถึงการทำงานวิจัยให้มีผลเป็นรูปธรรม มากกว่าแค่การตีพิมพ์ในบทความทางวิชาการ ที่ก็มีประโยชน์เช่นกัน แต่จะดีกว่าหากมองเห็นว่างานวิจัยสามารถต่อยอดทางสังคม หรือช่วยสาธารณะในทุกมิติทางสังคมได้อย่างไรบ้าง 

นพ.นพพร ย้ำอีกว่า รัฐบาลที่ทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยในระบบสาธารณสุขนั้น อาจะต้องพิจารณาถึงการสนับสนุนงานวิจัยที่ทันต่อสถานการณ์ และเป็นงบประมาณที่พร้อมสนับสนุนอย่างยืดหยุ่น ไม่ยึดติด เพราะปัจจุบันเราใช้วิธีตั้งงบประมาณล่วงหน้า 2 ปี เพื่อสนับสนุนงานวิจัย แต่ควรจะมีงบประมาณอีกก้อนหนึ่งสำหรับงานวิจัยด้านสุขภาพที่ทันต่อสถานการณ์ รวมไปถึงเป็นงบประมาณที่สนับสนุนการวิจัยต่อเนื่องด้วย 

"การตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยให้มีความยืดหยุ่น จะช่วยให้เกิดการวิจัยที่ทันต่อสถานการณ์หากเกิดเหตุระบาดของโรค เช่น โควิด-19 เหมือนที่ผ่านมา หรือแม้แต่งบประมาณที่ต้องสนับสนุนงานวิจัยที่ต้องทำต่อเนื่อง ก็ควรยืดหยุ่นให้มีการเสนองานวิจัยในแนวนี้ด้วย" 

นพ.นพพร ย้ำอีกว่า รัฐบาลต้องกล้าหาญในการส่งเสริมการวิจัยระบบสุขภาพให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะกับเทคโนโลยี นวักรรม หรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากฝีมือคนไทยเอง ด้วยการสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างประเทศ หรือแม้แต่การสร้างข้อจำกัดเพื่อไม่ให้นวัตกรรม เทคโนโลยีการแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ 

2

สเปกผู้บริหารที่เข้ามารับไม้ต่อ

นพ.นพพร บอกเล่าถึงสไตล์ในการบริหาร สวรส. ตลอดระยะเวลา 2 สมัยที่ได้เข้ามาทำงาน โดยยืนยันว่า ไม่เคยสั่งการให้ทำงานวิจัยตามที่ตัวเองต้องการ 

"แต่ละปีมีงานวิจัยระบบสุขภาพออกจาก สวรส. กว่าปีละ 200 งานวิจัย แต่จะมีแค่ไม่ถึง 10 งานวิจัยที่ผมเห็นว่าควรจะต้องสนับสนุน ข้อมูลต่างๆ ที่ผมเสนอไปก็มาจากวงประชุม หรือมีการเสนองานวิจัยที่ตรงกับโจทย์ความต้องการในประเทศ ผมจึงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย 

“ยืนยันว่าเข้าไปแทรกแซงน้อยมาก แต่ทั้งนี้การกำหนดโจทย์การวิจัยก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารเช่นกันว่าจะมีสไตล์อย่างไร แต่สำหรับ สวรส. มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว องค์กรจึงเดินหน้าได้อย่างราบรื่น บางเรื่องผมก็บอกว่าไปโหวตกันเลยจะเอาอย่างไร เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็เดินหน้าตามมติได้เลย ไม่ต้องกลับมาบอกผม ผมให้อิสระเต็มที่" 

เมื่อถามถึง ‘สเปก’ ของผู้บริหารคนต่อไปที่จะเข้ามา ‘รับไม้ต่อ’ นพ.นพพร บอกว่า ผู้อำนวยการ สวรส. คนต่อไปจะต้องฟังให้มาก เพราะสังคมปัจจุบันที่มีคนรุ่นใหม่เป็นกำลังหลัก คนรุ่นเก่าที่เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้บริหารจะต้องฟังมากขึ้น หากฟังน้อยจะมีปัญหาตามมาทันที 

มากไปกว่านั้นคือ ต้องมีความคิดเชิงวิเคราะห์สูง และที่ขาดไม่ได้เลยคือมีรูปแบบและให้ความสำคัญกับการสื่อสารทั้งภายในองค์กร และภายนอกองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยระบบสาธารณสุขให้ได้ และจะได้กำหนดทิศทางการวิจัยที่จะตอบโจทย์ด้านสุขภาพให้กับคนทั้งประเทศ 

ในตอนท้าย เราถามถึงอนาคตของ ‘นพ.นพพร’ หลังจากหมดวาระ เพราะอาจารย์นพพรยังดูเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของคนหนุ่ม และที่สำคัญคืออาจารย์ทำงานมาทั้งชีวิต … 

นพ.นพพร บอกว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ได้บริหารหน่วยงานในแวดวงสาธารณสุข ก็เพียงพอต่อชีวิตการทำงานแล้ว ในมุมหนึ่งก็ต้องการเดินทางท่องเที่ยว พักผ่อน รีไทร์ได้แล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีหน่วยงาน-องค์กร ประสานมาเพื่อให้ช่วยไปสนับสนุนการทำงาน

“หากมีงานให้ผมทำต่อ ผมก็ยินดีทำให้เต็มที่ แต่หากไม่มีให้ทำ ก็ไม่ทำ ก็แค่นั้นเอง”