ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ใส่ฟันเทียมหากประสบปัญหาฟันเทียมหลวม ไม่แน่น ไม่ยึดติดกับเหงือก สปสช.ชวนรับบริการ “ใส่รากฟันเทียม” ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ย้ำใส่รากฟันเทียมไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ไม่ต่างจากการถอนฟันหรือผ่าฟันคุด แต่ช่วยให้บดเคี้ยวอาหารได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ภายใต้ความร่วมมือโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สปสช. นอกจากการใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่สูญเสียฟันเกือบทั้งปากแล้ว ในครั้งนี้ยังเพิ่มเติมบริการใส่รากฟันเทียมให้กับผู้ที่ใส่ฟันเทียมในโครงการฯ

ทั้งนี้ เบื้องต้นจำกัดเฉพาะผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ทุกกลุ่มอายุที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียม ฟันเทียมหลวม ไม่แน่น ไม่กระชับ หรือไม่สามารถใส่ฟันเทียมได้ ที่ทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า จำเป็นต้องได้รับการใส่รากฟันเทียม

2

สำหรับการดำเนินโครงการฯ ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น จำนวนประชาชนที่เข้ารับบริการใส่ฟันเทียมได้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการฯ แล้ว แต่ในส่วนของบริการใส่รากฟันเทียมพบว่ายังมีผู้ที่มีสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการไม่มาก แม้จะผ่านเกณฑ์รับบริการใส่รากฟันเทียมก็ตาม ซึ่งจากการสำรวจความเห็นพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความไม่เข้าใจและยังรู้สึกกลัวที่จะใส่รากฟันเทียม คิดว่าการใส่รากฟันเทียมเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ต้องผ่าตัดและมีความเจ็บปวดมาก รวมถึงต้องรับบริการหลายครั้ง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลความคิดเห็นต่อการใส่รากฟันเทียมนี้ ขอย้ำว่าการใส่รากฟันเทียมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และไม่แตกต่างอะไรจากการถอนฟัน หรือผ่าฟันคุดแต่อย่างใด ซึ่งในการทำหัตถการนี้ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาก่อน หลังจากนั้นทันตแพทย์ก็จะทำการใส่รากฟันเทียม 2 รากที่ขากรรไกรซึ่งใช้เวลาไม่นานมากเพียง 1-2 ชั่วโมง ก็เป็นอันเรียบร้อยดี และเมื่อยาชาหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยก็อาจมีอาการปวดบ้าง แต่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ 1-2 วันก็หาย

2

ในส่วนของขั้นตอนจากนั้น เป็นการช่วงการรอให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูกเสียก่อน อาจต้องใช้เวลานานประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเป็นการนัดพบทันตแพทย์เพื่อทำการปรับแต่งฟันเทียมให้ยึดกับรากฟัน หลังจากนั้นผู้ป่วยก็สามารถใช้ฟันเทียมชุดใหม่นี้ได้ ในระหว่างนี้ก็จะมีการนัดผู้ป่วยมาตรวจรากฟันเทียมที่ใส่เป็นระยะ ซึ่งรากฟันเทียมนี้ผู้ป่วยสามารถได้ไปตลอด แต่ในกรณีที่ใส่ฟันเทียมที่ยึดติดกับรากฟันเทียมไประยะหนึ่ง แล้วฟันเทียมที่ใส่เกิดหลวมอีกนั้น จะเป็นการแก้ไขโดยปรับฟันเทียมบริเวณที่ยึดกับรากฟันเท่านั้น

จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว เห็นได้ว่าการใส่รากฟันเทียมไม่ได้เป็นสิ่งที่ยุ่งยากหรือน่ากลัวแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้าม เมื่อผู้ป่วยมีรากฟันเทียมที่จะยึดติดฟันเทียมแล้ว จะทำให้ท่านสามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวได้ดี รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ได้หลากหลาย อันนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ทั้งยังเป็นการเสริมบุคลิกที่ดีให้กับผู้ป่วยอีกด้วย นับได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ตามมาจากผลของการใส่รากฟันเทียมนี้ จะส่งผลที่ดีต่อผู้ป่วยอย่างมาก

2
 
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ส่วนประเด็นความมั่นใจต่ออุปกรณ์รากฟันเทียมที่นำมาใส่ให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในโครงการฯ ย้ำว่าเป็นนวัตกรรมรากฟันเทียมที่มาจากฝีมือคนไทย ชื่อรุ่น PRK ย่อมาจากคำว่า พระรามเก้า มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่ากับรากฟันเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีผู้ป่วยได้รับการใส่รากฟันเทียมนี้แล้วจำนวน 50,000 คน จึงมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของรากฟันเทียมนี้ได้ โดยไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียถัดจากเกาหลีใต้ที่สามารถผลิตรากฟันเทียมได้เอง

“การใส่รากฟันเทียมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และส่งผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่า ผู้ที่สนใจเข้ารับบริการใส่รากฟันเทียมภายใต้โครงการฯ และมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ เป็นผู้มีสิทธิบัตรทองที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก ที่รับบริการในโครงการฯ และมีปัญหาฟันเทียมหลวม ไม่กระชับ ซึ่งทันตแพทย์วินิจฉัยว่าต้องใส่รากฟันเทียมนี้ สามารถเข้ารับบริการใส่รากฟันเทียมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งขอย้ำว่าจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เคี้ยวอาหารได้ ทำให้สามารถรับประทานอาหารได้หลากหลาย และนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีตามมา รวมถึงช่วยสร้างเสริมบุคลิกที่ดี” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

อนึ่ง สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านได้รับการใส่ฟันเทียม หรือติดต่อสายด่วน สปสช. 1330

33