ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ สปสช. ลงพื้นที่ จ.สระแก้วและ จ.ปราจีนบุรี เพื่อติดตามภาพรวมการดำเนินงานด้านการจัดการคุณภาพและมาตรฐาน การจัดการข้อร้องเรียนในพื้นที่ ชี้แนวคิดคือเน้น "จับถูก" ไม่ใช่ "จับผิด" เป็นทั้งเพื่อนและพันธมิตรกับผู้ให้บริการ พร้อมรับฟังทุกประเด็นปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.ชาตรี บานชื่น พร้อมทั้ง นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบริการในพื้นที่ สปสช.เขต 6 ที่ จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี ระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ. 2561 ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว, โรงพยาบาลกบินทร์บุรี และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกอุดม เพื่อติดตามรับฟังภาพรวมการดำเนินงานด้านการจัดการคุณภาพและมาตรฐาน การจัดการข้อร้องเรียนในพื้นที่ การส่งเสริมสุขภาพและการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของผู้ให้บริการ

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ได้มาเยี่ยมชมอนุกรรมการควบคุมคุณภาพเขต อนุกรรมการมาตรา 41 ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาการช่วยเหลือเบื้องต้น หน่วยภาคประชาชนตามมาตรา 50 (5) และศูนย์หลักประกันสุขภาพในสถานพยาบาลซึ่งทำหน้าที่ประกันคุณภาพของประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ การมาครั้งนี้มาจับถูก ไม่ได้จับผิด เพราะวิธีการทำงานของคณะกรรมการควบคุมฯ ต้องการทำงานในฐานะเพื่อนและในฐานะพันธมิตร และจริงๆแล้วผู้ที่จะพัฒนาคุณภาพก็คือหน่วยบริการ คนปฏิบัติจริงๆ คือผู้อำนวยการโรงพยาบาล ดังนั้นถ้ามีประเด็นอะไรที่พบว่าสามารถพัฒนาได้ ก็มาช่วยกันคิดว่าจะหาต้นตอเพื่อช่วยกันพัฒนาได้อย่างไร

"เราถือว่าสิ่งที่เข้ามาเป็นโอกาสในการพัฒนาเสมอแม้จะเป็นเรื่องร้องเรียนก็ตาม บางสถานการณ์ มาคุยกันก่อนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะสื่อสารอย่างไร ขณะเดียวกันภาคประชาชนมาตรา 50 (5) ก็ช่วยได้อย่างมาก วิธีการทำงานที่ผ่านมาก็เป็นส่วนประสานให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนกับผู้ให้บริการ ตรงนี้เราพบว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาคุณภาพได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ" นพ.ชาตรี กล่าว

นพ.ชาตรี กล่าวอีกว่า ในส่วนของแนวทางการลดข้อร้องเรียนจะมี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ทำความเข้าใจกับผู้ร้องเรียน เพราะกว่า 50% เป็นเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการเข้าใจผิดหรือเกิดจากการสื่อสาร  2.อีก 50% เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ก็จะเข้าคณะกรรมการมาตรา 41 เยียวยาไปตามกฎหมายให้ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้น ทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจได้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคณะกรรมการควบคุมฯ ก็จะเอาประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนบ่อยๆ มาเป็นประเด็นในการพัฒนาคุณภาพ

นพ.ชาตรี ยกตัวอย่างเรื่องร้องเรียนทางสูติกรรมซึ่งเป็นเรื่องร้องเรียนที่พบบ่อยมากที่สุดทั้งประเทศ เช่น การคลอดติดไหล่ อาจมีสาเหตุจากแม่เป็นเบาหวานทำให้เด็กตัวโตมาก หรือการตรวจสัดส่วนตัวเด็กกับเชิงกรานของแม่อาจไม่ได้ตรวจก่อนคลอด ตรงนี้เป็นประเด็นเกี่ยวโยงถึงการฝากครรภ์ บางทีคนไข้ไปฝากครรภ์ที่อื่นหรือไม่ได้มาฝากครรภ์แล้วมาคลอด ทำให้พบสาเหตุว่าแม่เป็นเบาหวานช้าเกินไปและมีโอกาสคลอดติดไหล่ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาก็คือต้องพัฒนาการฝากครรภ์ให้เป็นระบบให้มากที่สุด

"เพราะฉะนั้นการพัฒนาต้องลงไปถึงต้นทางเลยคือชุมชน รพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน และระบบมาตรฐานในการฝากครรภ์ซึ่งก็มีอยู่แล้วว่าต้องมากี่ครั้ง ต้องอัลตร้าซาวด์ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ต้องเชื่อมโยงกันเพื่อให้หน่วยที่ทำคลอดรับทราบ เมื่อคนไข้มาถึงก็ต้องมีมาตรฐานในการทำคลอด ถ้าจำเป็นก็ต้องผ่าท้องได้ทันเวลา เป็นต้น" นพ.ชาตรี กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของระบบบริการ ทั้งบทบาทผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการก็มีความสำคัญว่าทำอย่างไรประชาชนจะได้รับบริการที่ดีที่สุดซึ่งจากการประเมินก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาต่างๆ ถ้าได้มาวางอยู่บนโต๊ะแล้วหารือว่าจะแก้ร่วมกันอย่างไร ปัญหาเหล่านั้นก็จะได้รับการแก้ไข

"ปัญหาใหญ่ๆ ที่เรามาดูกันคือว่าบางพื้นที่อาจอยู่ห่างไกล เช่น จ.สระแก้ว สถานะทางเศรษฐกิจอาจสู้ จ.ระยองไม่ได้ เราก็มาดูว่าจะเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการลงมาดูในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลกลับไปเตรียมการ" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

อนึ่งสำหรับข้อร้องเรียนของพื้นที่ สปสช.เขต 6 ปีงบประมาณ 2561 มีทั้งหมด 104 เรื่อง โดยแผนกที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ สูติกรรม จำนวน 34 เรื่อง หรือ 32.70% ทั้งปัญหาทารกคลอดติดไหล่ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และมารดาเสียชีวิตหลังคลอด ซึ่งทางด้าน สปสช.เขต 6 ได้หารือในคณะกรรมการ 5x5 เพื่อการพัฒนาเชิงระบบ รวมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น Service Plan เพื่อกำหนดแนวทางและสนับสนุนการพัฒนาบริการให้ดียิ่งขึ้น