ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานปลัด สธ. จับมือ สบส.-สรพ. MOU วิชาการด้านมาตรฐานระบบบริการสุขภาพหนุนสถานพยาบาลภาครัฐผ่านการรับรองมาตรฐาน ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่ปลอดภัย และเพิ่มพูนขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานและสักขีพยาน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ ระหว่าง สำนักงานปลัด สธ. โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กับ นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. มีนโยบายส่งเสริมให้หน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการให้บริการโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และเป็นการส่งเสริมพัฒนามาตรฐานระบบบริการสุขภาพสถานพยาบาลภาครัฐไทยไปสู่ระดับสากล สำนักงานปลัด สธ. ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดอยู่ทั่วประเทศ จึงมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลฯ โดยมีวัตถุประสงค์ให้สถานพยาบาลภาครัฐมีการพัฒนาและผ่านการรับรองจากหน่วยงานรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ตามมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้แก่ 1. มาตรฐานการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยสำนักงานปลัด สธ. 2. มาตรฐานระบบบริการสุขภาพภาครัฐ โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 3. มาตรฐานสถานพยาบาลที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน ด้านวิชาการ บุคลากร และการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน

นพ.สุระ กล่าวว่า สบส. ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ให้สถานพยาบาลภาครัฐได้เข้าสู่มาตรฐานตามที่กฎหมายสถานพยาบาลกำหนด ซึ่งปัจจุบัน สถานพยาบาลภาครัฐประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนมีการประเมินตนเองเข้าสู่มาตรฐานระบบริการสุขภาพแล้ว 1,062 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐาน 9 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการบริหารจัดการ 2. ด้านการบริการสุขภาพ 3. ด้านอาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก 4. ด้านสิ่งแวดล้อม 5. ด้านความปลอดภัย 6. ด้านเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข 7. ด้านสนับสนุนบริการที่สำคัญ 8. ด้านสุขศึกษาและพฤติกรรม และ 9. ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

ทั้งนี้ จะมีการสนับสนุนให้สถานพยาบาลภาครัฐประเมินตนเองเข้าสู่มาตรฐานระบบริการสุขภาพให้ครบ 100% เพื่อให้เกิดการยอมรับและมั่นใจ ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างปลอดภัย สมประโยชน์ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และได้รับความพึงพอใจ รวมทั้งเพิ่มพูนขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านสุขภาพแก่นักเดินทางทั่วโลก

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ในส่วนของ สรพ. จะทำหน้าที่ประเมินระบบงานและการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลภาครัฐ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานของสถานพยาบาลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการรับรองมาตรฐานระบบบริการปฐมภูมิ มาตรฐานระบบบริการสุขภาพ และเกณฑ์การรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เพื่อใช้เป็นแนวทางการประเมินการพัฒนาและการรับรองคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพในอนาคต

นอกจากนี้ จะร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินมาตรฐานต่างๆ เพื่อบูรณาการจัดทำแผนขับเคลื่อนและพัฒนาสถานพยาบาลภาครัฐ แผนการเยี่ยมประเมิน แผนการตรวจประเมิน การอบรมพัฒนาบุคลากร และแผนการดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง