ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรพ. เยี่ยมชมกระบวนการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในโรงพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานเฉพาะระบบ (HA IT) นำเทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลสู่การเป็น Data Driven Organization


พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) พร้อมด้วย ดร.บรรจง จำปา รองผู้อำนวยการ สรพ. พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมโรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC) ระบบพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) โดยมี นพ.กิตติ  โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับพร้อมนำเยี่ยมชม 

พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างการเรียนรู้และกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพในสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคหรือระบบ รวมถึงเป็นการสร้างทีมทางคลินิกที่เข้มแข็งเพื่อขยายผลสู่การรับรองคุณภาพทั้งสถานพยาบาล ขณะเดียวกัน ในส่วนของระบบสารสนเทศนั้น สรพ. เล็งเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของระบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในสถานพยาบาล จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเวชสารสนเทศไทยและสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) จัดทำการพัฒนาคุณภาพระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสำหรับสถานพยาบาลขึ้นโดย ใช้มาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (Hospital and Healthcare Standards) ของ สรพ. และแนวทางการพัฒนาคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสถานพยาบาลของสมาคมฯ  เป็นกลไกการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ

1

พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงพยาบาลคูเมืองนั้น เป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดในการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบงานภายในโรงพยาบาล อาทิ  ระบบการให้บริการในจุดบริการต่างๆ การพัฒนาทักษะและความสามารถของบุคลากรเพื่อให้สามารถรองรับการทำงานผ่านระบบสารสนเทศ ตลอดจนการนำระบบสารสนเทศมาพัฒนาระบบในการดูแลผู้ป่วยตามกลุ่มโรคที่สำคัญ โรคติดเชื้อ โรงเรื้อรัง โรคฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลรักษา จนได้การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC)  ระบบพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (HA IT) และ สรพ. ต้องขอชื่นชมและให้กำลังผู้บริหาร ทีมนำ และเจ้าหน้าที่บุคลากรของโรงพยาบาลคูเมืองทุกคน ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพของประเทศให้มีคุณภาพ

ด้าน นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูเมือง กล่าวว่า หัวใจสำคัญของระบบสารสนเทศคือการวิเคราะห์ข้อมูล และนำข้อมูลไปสู่การขับเคลื่อนด้านต่างๆ (Data Driven Organization) สิ่งที่โรงพยาบาลทำ ไม่ได้ตั้งต้นจากเทคโนโลยี แต่ตั้งต้นจากเป้าหมายจากนั้นถึงคิดว่าจะเอาเทคโนโลยีอะไรมาช่วย ดังนั้น ภาพการใช้เทคโนโลยีของโรงพยาบาลจึงจะไม่มีเทคโนโลยีที่สวยหรู แต่เป็นการใช้โปรแกรมพื้นๆ เช่น google drive, data studio, zoom, Webex ฯลฯ มาตอบโจทย์ปัญหาขององค์กรและเกิดผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วยได้ เช่น การลดภาระงานที่ใช้เวลานาน การติดตามและแจ้งเตือนต่างๆ ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแดชบอร์ดได้ด้วยตัวเอง

2

นพ.กิตติ กล่าวต่อไปว่า ในกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศไปสู่ Digital Transformation นั้น จะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. ด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แผนแล้วดูว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองยุทธศาสตร์ในทุกๆด้านได้อย่างไรบ้าง  2. ด้านรูปแบบธุรกิจ (Business Model) คือการนำข้อมูลเพื่อการตัดสินใจออกแบบบริการ ยกตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมารับบริการมากที่สุดอยู่ที่ช่วง 8.00-10.00 น. โดยมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังมารับบริการมากที่สุด โดยจากข้อมูลปี 2559 พบว่าผู้ป่วยนอกโรคเรื้อรังมีระยะเวลารอคอย 332 นาที ขณะที่ผู้ป่วยนอกโรคทั่วไปมีระยะเวลารอคอย 236 นาที จากนั้นมีการนำโปรแกรม Apromore มาวิเคราะห์กระบวนการทำงาน แล้วออกแบบกระบวนการทำงานใหม่โดยใช้ Lean concept จนสามารถลดระยะเวลารอคอย เหลือ 174 นาทีในกลุ่มผู้ป่วยนอกโรคเรื้อรัง และ 104 นาทีในกลุ่มผู้ป่วยนอกโรคทั่วไป เป็นต้น  ทั้งนี้ นอกจากเรื่องการลดระยะเวลารอคอย ในเชิงคุณภาพโรงพยาบาลยังมีการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคสำคัญ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาการเข้าถึงบริการ ลดความผิดพลาด และช่วยให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์การรักษาที่ดีมากขึ้น  

3. ด้านกระบวนการ (Process) ในระดับคณะกรรมการทั้ง PCT, IC, HRD, ENV และ RM มีการนำสารสนเทศมาช่วยในการกำกับ ติดตาม แจ้งเตือน และพัฒนางานในด้านนั้นๆให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับในระดับองค์กร ในส่วนของงานหลังบ้านก็นำระบบไอทีมาช่วยลดขั้นตอนการเบิกวัสดุสำนักงาน ลดระยะเวลาการจ่ายค่าโอที ฯลฯ โดยรวมแล้วมี Process Redesign ในระดับองค์กรรวมกว่า 28 เรื่อง แบ่งเป็นหน่วยงานด้านคลินิก 16 เรื่อง และหน่วยงาน back office อีก 12 เรื่อง