ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ขยายบริการดูแลผู้ป่วย ‘จิตเวชยาเสพติด’ ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปครบทุกจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ รวม 131 แห่ง วางแผน 4 ปีข้างหน้า ผลิตจิตแพทย์เพิ่มอีกปีละ 30 คน ดูแลปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.ได้เร่งรัดการดำเนินงานด้านยาเสพติดและสุขภาพจิต ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 ที่ได้เห็นชอบ 4 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน 2. มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 3. มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และ 4. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต

ทั้งนี้ ให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ในสังกัดสำนักงานปลัด สธ. เปิดหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติด ส่วนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ให้จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด เพื่อรองรับการบำบัดรักษา ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในทุกพื้นที่

นพ.โอภาส กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เปิดหอผู้ป่วยในครอบคลุมทุกจังหวัด จำนวน 127 แห่ง และในโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ อีกจำนวน 4 แห่ง รวม 131 แห่ง และมีเตียงรองรับ 1,348 เตียง ส่วนโรงพยาบาลชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 494 แห่ง และยังจัดบริการศูนย์ธัญญารักษ์จังหวัด ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะกลาง (Intermediate Care) นำร่องอีกเขตสุขภาพละ 1 แห่ง

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบุคลากรที่จะให้การดูแลผู้ป่วย สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดและฟื้นฟูยาเสพติด ได้ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ จัดการอบรมระยะสั้น 3 หลักสูตร ได้แก่ 1. การอบรมแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ที่ดูแลหอผู้ป่วยจิตเวช โดยเน้นโรงพยาบาล ที่ยังขาดแคลนจิตแพทย์ จำนวน 4 รุ่น รวม 200 คน เริ่มเดือนมิถุนายนนี้

2. การอบรมพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชประจำหอผู้ป่วย จำนวน 250 คน และ 3. การอบรมพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชฉุกเฉิน สำหรับโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 650 คน ในศูนย์ฝึกอบรม 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, โรงพยาบาลสวนปรุง, โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์, โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ส่วนระยะกลางและระยะยาว ได้จัดทำแผนบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปี 2567 และโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบด้านการดูแลสุขภาพจิต ปี 2567-2570 โดยฝึกอบรมจิตแพทย์เพิ่มอีกปีละ 30 คน เพื่อให้ได้จิตแพทย์ครบ 400 คน ตามสัดส่วนของอาจารย์แพทย์ต่อแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสุขภาพจิตได้ขออนุญาตราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและบุคลากรต่างๆ แล้ว จะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2567 และในส่วนกรมเอง ได้จัดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพิ่มเติมแล้ว 6 คน และจัดฝึกอบรมระยะสั้น ในเขตสุขภาพที่ 8 ประกอบด้วย แพทย์ 150 คน และพยาบาล 100 คน พร้อมทั้งจัดทำคู่มือและแนวทางการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด และมาตรฐานการปฏิบัติงานการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีพฤติกรรมรุนแรง ให้ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ด้วยระบบบริการจิตเวชฉุกเฉินและติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชน