ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ชมสิทธิบัตรทองพัฒนาไปไกล ครอบคลุมรักษาพยาบาล-ส่งเสริมสุขภาพ แต่หน่วยบริการพื้นที่่ห่างไกลยังไปไม่ถึง ทำให้คนชายขอบเข้าถึงลำบาก หวังรัฐบาลชุดต่อไปขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม


นายสุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) เปิดเผยกับ The Coverage ถึงข้อเสนอที่อยากเห็นในรัฐบาลชุดต่อไปได้พิจารณาจัดทำเป็นนโยบายสุขภาพให้กับประชาชน โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มคนชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศว่า ปัจจุบันการบริการสุขภาพสำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง มีการพัฒนาไปมากและครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาล และการส่งเสริมป้องกันโรค แต่ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลได้สนใจพิจารณาการเพิ่มหน่วยบริการสุขภาพให้กับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น เพราะยังมีประชาชนคนไทย รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบปัญหาเดินทางเมื่อต้องเจ็บป่วย หรือต้องได้รับการรักษาพยาบาล ทั้งการเดินทางที่ไกลกว่าจะถึงหน่วยบริการ

อีกทั้ง สำหรับกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังรอพิสูจน์สัญชาติ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องสัญชาติในด้านต่างๆ ก็อยากให้มีสิทธิรักษาพยาบาลในสิทธิบัตรทองระหว่างรอ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์เองก็อยู่ในผืนแผ่นดินไทย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญที่กำหนด ก็ควรให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐด้วย โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล

"ระบบบริการสุขภาพในประเทศไทย โดยเฉพาะสิทธิบัตรทองพัฒนาไปอย่างมาก และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ไม่น้อย แต่สิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้ครอบคลุมกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ยังไม่สามรถเข้าถึงบริการสุขภาพของภาครัฐได้ หรือเมื่อเข้าถึงได้ก็ยังเป็นหน่วยบริการที่ห่างไกล จึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาเรื่องนี้ รวมถึงกระจายหน่วยบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบทให้มากขึ้น รวมถึงอย่างน้อยที่สุดก็ให้สิทธิการรักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้กับกลุ่มคนชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม" นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ กล่าว

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายประชาชน และเครือข่ายที่ทำงานด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ติดตามบรรยากาศหาเสียงเลือกตั้งในขณะนี้เช่นกัน แต่ยังไม่เห็นว่าจะมีพรรคการเมืองไหนหันมาใส่ใจนโยบายสุขภาพที่ให้กับคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยทุกคน ทั้งนี้ อาจเพราะกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่ฐานเสียงจึงไม่ได้รับความสนใจก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อมีรัฐบาลชุดต่อไปแล้ว จะมีการหยิบยกเรื่องนโยบายสุขภาพสำหรับกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์อย่างไร และจะมีการผลักดันให้เกิดนโยบายที่จะทำให้เกิดสิทธิด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมได้หรือไม่