ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.และสภาการพยาบาล จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นพยาบาลห้องฉุกเฉิน สูติกรรม และงานปฐมภูมิในพื้นที่ภาคกลางที่ จ.นครปฐม หวังรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงนโยบาย UCEP งานปฐมภูมิ และแก้ปัญหาร้องเรียนกรณีทำคลอดอย่างเป็นระบบ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาการพยาบาลลงพื้นที่ จ.นครปฐม จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ให้บริการตามมาตรา 18 (13) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ระหว่างวันที่ 11-12 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) นโยบายการให้ความสำคัญกับระบบปฐมภูมิที่เชื่อมโยงกับคลินิกหมอครอบครัว ตลอดจนปัญหาการร้องเรียนจากผู้รับบริการ โดยมีพยาบาลชีพห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER)พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และพยาบาลในแผนกสูติกรรมในพื้นที่ภาคกลางเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 275 คน

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะพัฒนาได้ สปสช.ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18 (13) เป็นประจำทุกปี แยกเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนของพยาบาลถือเป็นบุคลากรผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญในระบบ เนื่องจากมีจำนวนมาก ถือเป็นมดงานตัวจริงที่ทำงานทุกระดับตั้งแต่หัวหน้างานไปจนถึงผู้บริหาร มีประเด็นความทุกข์ความสุขในการทำงานเยอะแยะมากมาย ดังนั้นหากรวบรวมพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ มาให้ความเห็นในเชิงพัฒนาต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ด้วยเหตุนี้ทาง สปสช.จึงได้ร่วมมือกับสภาการพยาบาลจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2560 โดยปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งจะได้นำข้อคิดเห็นต่างๆไปรวบรวม คัดแยก สังเคราะห์ แล้วเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพต่อไป

"ถือว่าเป็นเสียงสะท้อนจากผู้ให้บริการในกลุ่มของพยาบาล อะไรที่ดีเราจะพัฒนาให้ต่อเนื่อง และอะไรที่ควรปรับปรุงเราก็จะนำไปแก้ไข" ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า กลุ่มพยาบาลที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มี 3 กลุ่มคือพยาบาลห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน เพราะแม้โครงการ UCEP จะมีกฎกติกาที่เป็นมาตรฐาน แต่ในการสื่อสารนโยบายอาจยังไม่ครบถ้วน จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากพยาบาลห้องฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะเอากฎกติกาของโครงการ UCEP มาอธิบายให้พยาบาลฟัง เพื่อที่จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องและประชาชนได้ประโยชน์ ขณะที่กลุ่มพยาบาลแผนกสูติกรรมก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เนื่องจากที่ผ่านมา สปสช.พบว่ามีปัญหาข้อร้องเรียนจากเรื่องการทำคลอดเยอะ จึงมีแนวคิดที่จะรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับพยาบาลในระบบปฐมภูมิก็เป็นเรื่องที่สภาการพยาบาลอยากช่วยพัฒนาให้ระบบปฐมภูมิเดินหน้าไปได้ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกวิชาชีพ จึงใช้โอกาสนี้เป็นเวทีร่วมกันสะท้อนว่าทำอย่างไรให้งานบริการปฐมภูมิเป็นแหล่งรวมของสหวิชาชีพและทำงานไปพร้อมๆกันอย่างแท้จริง

ด้าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ผู้ให้บริการกลุ่มใหญ่สุดที่อยู่หน้างานและกระจายไปทั้งระบบบริการคือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล เพราะฉะนั้นย่อมเห็นประเด็นต่างๆ ว่าเรื่องอะไรที่ทำแล้วเป็นผลดี มีประเด็นอุปสรรคอะไรที่ควรแก้ไขให้เกิดผลดีกว่านี้ ดังนั้นการรับความคิดเห็นจากกลุ่มพยาบาลจึงมีความสำคัญเพื่อที่จะได้นำไปสู่การพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดียิ่งขึ้น

"ในความคิดเห็นของพวกเราทุกคน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นรูปแบบที่มีค่าสำหรับสังคม ทำให้คนจนคนด้อยโอกาสได้เข้าถึงบริการได้ถ้วนหน้า ดังนั้นเป็นความสำคัญและจำเป็นที่ต้องรักษาระบบไว้ และสภาการพยาบาลรู้สึกว่าการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มวิชาชีพพยาบาลเป็นการดำเนินการที่มีค่าและจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม อย่างน้อยมีกิจกรรมอย่างนี้ปีละครั้งก็เป็นเรื่องที่ดียิ่ง ต้องขอบคุณ สปสช.และน้องๆพยาบาลในพื้นที่ทุกคนที่มาร่วมให้ข้อมูล" รศ.ดร.ทัศนา กล่าว

รศ.ดร.ทัศนา กล่าวอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ จ.นครปฐม เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์เมื่อเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา และถือเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาจากปี 2560 ซึ่งจัดเวทีในพื้นที่ภาคเหนือและใต้ และเมื่อรวบรวมเสียงสะท้อนจาก 4 ภูมิภาคก็จะเป็นภาพของทั้งประเทศ โดยจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องสนับสนุนและพัฒนาต่อเนื่อง อะไรที่เป็นอุปสรรคที่ต้องปรับแก้ต่อไป จากนั้นจะสรุปและนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบางเรื่องที่ สปสช.แก้เองไม่ได้ก็จะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรวิชาชีพต่างๆต่อไป